กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--ตลท.
ทีมบลจ. วรรณ จำกัด ซึ่งประกอบด้วยบลจ.วรรณ บล.เคจีไอ บล.กิมเอ็ง บล.บัวหลวง บล.ธนชาต และ บล.ซิตี้คอร์ป รวมทั้ง Samsung Investment Trust Management Co., Ltd. ได้รับคัดเลือกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้เป็นผู้จัดตั้งและบริหารจัดการกองทุนอิควิตี้ อีทีเอฟ กองแรกในไทย เนื่องจากเป็นทีมที่มีศักยภาพและความพร้อมที่เหมาะสมที่สุดในการจัดตั้ง และบริหารกองทุนให้ประสบความสำเร็จ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับทีมบลจ.วรรณ เพื่อที่จะดำเนินการจัดตั้งกองทุนอิควิตี้ อีทีเอฟ ในวันนี้ (14 ก.พ.2550)
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สรุปผลการคัดเลือกทีมผู้จัดตั้งและบริหารกองทุนอิควิตี้ อีทีเอฟแล้ว โดยได้คัดเลือกให้ทีมบลจ.วรรณ เป็นทีมจัดตั้งและบริหารกองทุนอิควิตี้ อีทีเอฟ กองแรกของไทย
“กองทุนอิควิตี้ อีทีเอฟ เป็นนวัตกรรมใหม่ของตลาดทุนไทย ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนสถาบันในการช่วยบริหารจัดการทรัพย์สินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ลงทุนบุคคลของไทยเนื่องจากกองทุนอิควิตี้ อีทีเอฟ สามารถซื้อขายได้สะดวกเหมือนการลงทุนในหุ้น นอกจากนี้ กองทุนอิควิตี้ อีทีเอฟยังช่วยเพิ่มความน่าสนใจของตลาดทุนไทยในระดับภูมิภาค ให้สามารถดึงดูดการลงทุนจากผู้ลงทุนต่างประเทศ ซึ่งการเพิ่มความน่าสนใจนี้เป็นไปตามแผนการตลาดทุนที่ครบวงจร และมีสินค้าที่ครบถ้วนหลากหลาย ตามแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีของตลาดหลักทรัพย์ฯ (ปี 2550 — 2552)” นางภัทรียากล่าว
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานวิจัยและข้อมูลสารสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า “ปัจจัยหลักที่ทีมจะต้องมีเพื่อจัดตั้งและบริหารจัดการกองทุนอิควิตี้ อีทีเอฟ ให้ประสบความสำเร็จ คือ ความเข้าใจที่แท้จริงในการทำงานของผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับการซื้อขายในตลาดแรกและตลาดรอง แผนการตลาดและช่องทางเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่แข็งแกร่ง ความสามารถในการดูแลและส่งเสริมให้มีสภาพคล่องที่ชัดเจน และที่ขาดเสียไม่ได้ ความตั้งใจที่จะทำให้กองทุนอิควิตี้ อีทีเอฟ นี้ประสบความสำเร็จ ด้วยปัจจัยดังกล่าว ทีมบลจ.วรรณ แสดงให้เห็นว่า เป็นทีมที่เหมาะสมที่สุด โดยเห็นได้จากข้อเสนอที่ละเอียดและครอบคลุมในประเด็นหลัก ๆ และ การตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อเสนอเพิ่มเติม”
นอกจากนี้ ขั้นตอนการคัดเลือกทีมจัดตั้งและบริหารจัดการกองทุนอิควิตี้ อีทีเอฟ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดทำข้อกำหนด (Request for proposal) ซึ่งระบุเกณฑ์การคัดเลือกไว้อย่างชัดเจน และมีการคัดเลือกอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ศึกษาข้อเสนอของทุกทีมโดยละเอียด และเชิญทุกทีมให้เข้ามาตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อเสนอเพิ่มเติม ทั้งนี้ จากข้อเสนอที่ทุกทีมจัดทำ ถือได้ว่ามีความตั้งใจและให้ความสนใจ รวมทั้งสละเวลาเข้าร่วมโครงการนี้เป็นอยางดี
ด้านทีมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด ได้แสดงความรู้สึกยินดีที่ได้รับคัดเลือก พร้อมทั้งแสดงความมั่นใจว่าจะสามารถทำให้กองทุนนี้ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเป็นทีมที่เข้มแข็ง มีประสบการณ์ใน ตลาดทุนไทย โดยเฉพาะการดูแลสภาพคล่อง และการเข้าถึงกลุ่มผู้ลงทุนรายย่อย ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้กองทุนนี้ประสบความสำเร็จ
ดร. สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด กล่าวว่า “ทีมบลจ.วรรณ มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถผลักดันให้กองทุนนี้ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเรามีทีมงานที่เข้มแข็งและมีประสบการณ์ ได้แก่ บล.เคจีไอ บล.กิมเอ็ง บล.บัวหลวง บล.ธนชาต และบล.ซิตี้คอร์ป รวมทั้ง Samsung Investment Trust Management Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนที่ประสบความสำเร็จในการออกกองทุนอิควิตี้ อีทีเอฟ ในเกาหลีใต้ มาเป็นที่ปรึกษา”
“ขนาดของกองทุนในช่วงไอพีโอที่ตั้งเป้าไว้คือ 1,900 ล้านบาท โดยได้รับเงินสนับสนุนจาก บลจ.วรรณและ บล.เคจีไอ 900 ล้านบาท และงบประมาณเพื่อทำการตลาดในช่วงไอพีโอประมาณ 6 ล้านบาท ซึ่งคาดว่ากองทุนนี้จะมีอัตราการเติบโตร้อยละ 30-50 ในปีที่ 2และปีที่ 3” ดร.สมจินต์กล่าวเสริม
นายวิลเลี่ยม ฟาง กรรมการอำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “บล.เคจีไอมีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งในบทบาทของผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) และผู้ร่วมค้าหน่วย (Participant Dealer) โดยได้กำหนดเกณฑ์ที่จะเข้าไปดูแลสภาพคล่องอย่างชัดเจนและได้เตรียม Trader และระบบคอมพิวเตอร์เพื่อให้สามารถดูแลสภาพคล่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ กำหนด bid-ask spread ของช่วงราคาซื้อขายอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 ของ Indicative NAV ซึ่งถือว่าแคบมากๆ นอกจากนี้ บล.เคจีไอยังมีประสบการณ์ในการดูแลสภาพคล่องของ SET50 Index Futures และปัจจุบันเป็นผู้ที่ดูแลสภาพคล่องที่ครองสัดส่วนทางการตลาดมากที่สุดถึงร้อยละ 20 ในตลาดอนุพันธ์”
นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เสริมว่า “กลุ่มผู้ลงทุนรายย่อยเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญในระยะแรกที่กองทุนอิควิตี้ อีทีเอฟ เพิ่งจัดตั้ง โดยทีมสามารถเข้าถึงผู้ลงทุนรายย่อยได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งดูได้จากมาร์เก็ตแชร์ในปัจจุบันของบล.กิมเอ็งและกลุ่มสมาชิกที่มี มาร์เก็ตแชร์รวมกันกว่าร้อยละ 20 ในตลาดตราสารทุน ซึ่งทางทีมประมาณการสัดส่วนผู้ลงทุนรายย่อยในช่วงการจัดตั้งกองทุนอยู่ที่ร้อยละ 60-70 ส่วนนักลงทุนสถาบัน เชื่อว่าจะให้ความสนใจมากขึ้น และเข้ามามีบทบาทในกองทุนนี้อย่างมากหลังการจัดตั้ง”
ขั้นตอนต่อไปในการจัดตั้งกองทุนอิควิตี้ อีทีเอฟ คือ จัดตั้งคณะทำงานโดยเร็วที่สุด ซึ่งคณะทำงานจะประกอบด้วยตัวแทนจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และทีมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด เพื่อพัฒนาระบบและปรับเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถออกกองทุนอิควิตี้ อีทีเอฟ ได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036 /
ศรินทร์ลักษณ์ จิตกะวงศ์ โทร. 0-2229 — 2037/ ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049 /
วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797