กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์
ทียูเอฟ แจงผลการดำเนินงานประจำปี 2553 รายได้รูปเงินเหรียญสหรัฐโต 13% ขณะที่รายได้ในรูปของเงินบาทก็มีการเติบโตเพิ่มขึ้น 4% แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันในปีนี้ แต่บริษัทยังสามารถทำผลงานให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีได้
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือทียูเอฟ ผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและบรรจุกระป๋องรายใหญ่ของไทย กล่าวถึง ผลการดำเนินงานตลอดทั้งปี 2553 ว่า บริษัทมีรายได้จากการขายในรูปเงินเหรียญสหรัฐเท่ากับ 2,268 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับปี 2552 ที่มีรายได้เท่ากับ 2,014 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนรายได้จากการขายในรูปเงินบาทตลอดทั้งปีเท่ากับ 71,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับปีก่อน ที่มีรายได้เท่ากับ 68,995 ล้านบาท ขณะเดียวกันรายได้รวมของทั้งปีก็เพิ่มขึ้น 4% เช่นเดียวกัน จาก 69,697 ล้านบาทในปี 2552 เป็น 72,810 ล้านบาทในปี 2553 ในส่วนของกำไรสุทธิทั้งปี บริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 2,874 ล้านบาท ลดลง 14% เมื่อเทียบกับปี 2552 ที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 3,344 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้นทั้งปีเท่ากับ 3.15 บาท
ขณะที่ผลการดำเนินงานเฉพาะไตรมาส 4/2553 บริษัทมีรายได้จากการขายในรูปเงินเหรียญสหรัฐเท่ากับ 687 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้น 33% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2552 ที่มีรายได้เท่ากับ 519 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกันก็มีรายได้จากการขายในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น 20% จาก 17,202 ล้านบาทในปี 2552 เป็น 20,649 ล้านบาทในปีนี้ ส่วนกำไรสุทธิของไตรมาสนี้เท่ากับ 352 ล้านบาท ลดลง 51% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 718 ล้านบาท
และจากตัวเลขผลการดำเนินงานดังกล่าว นายธีรพงศ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “รายได้จากการขายในรูปเงินเหรียญสหรัฐในไตรมาส 4 มีการเติบโตโดดเด่นเมื่อเปรียบเทียบกับ 3 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพิจารณาจากยอดขายของทั้ง 3 ไตรมาสจะเห็นว่า ยอดขายในรูปเงินเหรียญสหรัฐมีการเติบโตมาโดยตลอด จึงส่งผลทำให้ยอดขายทั้งปีมีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง การทำธุรกิจของบริษัทยังมีแนวโน้มที่ดีอยู่ และถึงแม้ว่าจะไม่รวมยอดขายกับ MW Brands ยอดขายของไตรมาส 4 ยังมีการเติบโตถึง 14.4% ทั้งนี้บริษัทเริ่มรับรู้รายได้ของ MW Brands เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 ที่ผ่าน และจากการรวมยอดขายช่วง 2 เดือนหลังเข้าด้วยกันแล้ว ก็ทำให้ยอดขายในส่วนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ามีการเติบโตที่ดีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม บริษัทเชื่อมั่นว่า ในปีนี้จะเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่รวมยอดขายเข้าด้วยกันแล้ว สำหรับใน
ส่วนของกำไรสุทธิที่ลดลงมากในช่วงไตรมาส 4 นี้ เป็นผลมาจากความผันผวนอย่างรุนแรงของราคาวัตถุดิบทั้งราคาปลาทูน่า และราคากุ้ง โดยเฉพาะราคากุ้งในปีนี้มีราคาสูงกว่าปกติและมีระยะเวลายาวนานเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา ประกอบกับปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นโดยเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 9% จึงส่งผลให้ค่าใช้จ่ายทางด้านต้นทุนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันในไตรมาสนี้ยังมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการซื้อกิจการของ MW Brands รวมถึงค่าใช้จ่ายภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น โดยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ได้เกิดขึ้นพร้อมกันในไตรมาสนี้ การควบคุมต้นทุนจึงทำได้ยากขึ้น ทำให้กำไรสุทธิในไตรมาส 4 นี้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นปี 2554 แนวโน้มสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ เริ่มมีสัญญาณที่ดี บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น ซึ่งบริษัทมีความเชื่อมั่นว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2554 นี้จะดีกว่าปี 2553 อย่างแน่นอน เนื่องจากในปีนี้บริษัทจะเริ่มได้รับผลประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการซื้อกิจการ MW Brands
สำหรับสัดส่วนยอดขายตามผลิตภัณฑ์ในปี 2553 นี้ ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ายังเป็นสินค้าหลักที่มีสัดส่วนการส่งออก 40% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัท รองลงมาได้แก่ กุ้งแช่แข็ง 22% อาหารแมวบรรจุกระป๋อง 9% อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง 8% อาหารกุ้ง 7% ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ 7% ปลาหมึกแช่แข็ง 4% และปลาซาร์ดีน/แมคเคอเรลบรรจุกระป๋อง 3% ส่วนตลาดส่งออกหลักนั้นยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา โดยมีสัดส่วนการส่งออก 46% สหภาพยุโรป 16% ญี่ปุ่น 12% ขายในประเทศ 12% อัฟริกา 4% โอเชียเนีย 3% เอเชีย 3% ตะวันออกกลาง 2% แคนาดา 1% และอเมริกาใต้ 1%
นอกจากนี้นายธีรพงศ์ยังได้กล่าวถึง แผนการดำเนินงานในช่วง 2-3 ปี ข้างหน้าว่า บริษัทจะให้ความสำคัญกับการลดภาระหนี้ และการลดต้นทุน เนื่องจากหลังการซื้อ MW Brands ทำให้บริษัทมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนเพิ่มขึ้น จากเดิมในไตรมาส 3/2553 ที่ระดับ 0.72 เท่า ขึ้นมาเป็นระดับ 1.6 เท่า ดังนั้นบริษัทจึงต้องมีการกำหนดแผนการดำเนินงานให้มีความเข้มขึ้นมากกว่าเดิม ซึ่งในปี 2554 บริษัทมีความจำเป็นต้องปรับในเรื่องของนโยบายการจ่ายเงินปันผลใหม่ โดยกำหนดจ่ายไม่เกิน 1,200 ล้านบาททั้งปี ซึ่งนโยบายดังกล่าวนี้ จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เมื่อสัดส่วนหนี้สินต่อทุนกลับลงมาอยู่ในระดับปกติอีกครั้ง บริษัทก็จะสามารถจ่ายเงินปันผลได้ในอัตราเดิมคือ ไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ ทั้งนี้บริษัทมีแผนจะลดหนี้ให้กลับมาอยู่ในระดับปกติ 1:1 ภายใน 3 ปี อย่างไรก็ดี เรามั่นใจว่า สิ่งที่บริษัทดำเนินการนั้น ในระยะยาวจะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกับผู้ถือหุ้นและนักลงทุนได้อย่างแน่นอน
แผนกสื่อสารองค์กร
บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์
โทร. 022-980024 ต่อ 675 — 678