กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่าอุตสาหกรรมประกันชีวิตมีแนวโน้มมีเสถียรภาพ เนื่องจากการคาดการณ์ว่าการเติบโตของเบี้ยประกันน่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือประกันชีวิตผ่านธนาคารและสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เพิ่มมากขึ้น และการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของผลกำไรและสถานะเงินกองทุนของบริษัทประกันชีวิต
ในรายงานพิเศษที่มีการเผยแพร่ ฟิทช์กล่าวว่าเบี้ยประกันชีวิตมีอัตราการเติบโตถึง 14% จากปีก่อนมาอยู่ที่ 296 พันล้านบาทในปี 2553 แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ที่ส่งผลให้ธุรกิจเกิดการหยุดชะงักในระยะสั้น การเติบโตของเบี้ยประกันมีสาเหตุหลักมาจากการที่ตลาดประกันชีวิตผ่านธนาคารมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ถือกรมธรรม์มีเพิ่มขึ้น ฟิทช์คาดว่าเบี้ยประกันจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2554 และจะยังคงจะเห็นผลิตภัณฑ์และช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งผลตอบแทนการลงทุนที่ดีขึ้นและการควมคุมค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นจะทำให้บริษัทประกันชีวิตเผชิญกับการแข่งขันจากผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนอื่นๆ แต่ผลกระทบน่าจะเป็นในเรื่องของการที่อัตราการเติบโตของธุรกิจใหม่อาจจะปรับตัวลดลง มากกว่าที่จะเห็นการเวนคืนกรมธรรม์ที่เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ฟิทช์ ยังคาดว่าบริษัทประกันชีวิตไทยจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งได้ในระยะปานกลาง เนื่องจากอัตราผลตอบแทนการลงทุนที่คาดว่าน่าจะสูงขึ้นจากการที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น “แม้ว่าความผันผวนของตลาดหุ้นจะเป็นความเสี่ยง แต่บริษัทประกันมีการลงทุนในตราสารหุ้นในสัดส่วนที่จำกัด เนื่องจากข้อกำหนดที่เข้มงวด” นฤมล ชาญชนะวิวัฒน์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายจัดอันดับเครดิตบริษัทประกันในเอเชียแปซิฟิค กล่าว ในระยะยาวการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่างๆน่าจะทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทประกันชีวิตปรับตัวแข็งแกร่งขึ้น โดยการนำหลักการการดำรงเงินกองทุนตามความเสี่ยง (Risk-based capital framework) มาใช้ในปี 2554 น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรมเนื่องจากจะช่วยให้มีการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น มีการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่มีความโปร่งใสมากขึ้น และอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนจะสะท้อนความเสี่ยงที่ดีขึ้น ในด้านค่าใช้จ่าย บริษัทประกันชีวิตไทยได้แสดงให้เห็นถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการขายและการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นไปอย่างตอเนื่อง เนื่องจากความหลากหลายของช่องทางการจำหน่าย
ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจที่อาจปรับตัวอ่อนแอลง และอัตราเงินเฟ้อที่อาจจะสูงกว่าที่คาดการณ์ อัตราการเติบโตของเบี้ยประกันในระดับที่เห็นใน 3 ปีที่ผ่านมาอาจจะปรับตัวลดลงหากเศรษฐกิจชะลอตัวลง นอกจากนี้การปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราเงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยเสี่ยง เนื่องจากอาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและแผนการลงทุนของบริษัทประกันได้