กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--โกลบ์เบิล ครีเอชั่น
ภาคอุตฯปี 53 สร้างสถิติใหม่ทั้ง GDP-MPI ขยายตัว13.9%และ 14.4% ตามลำดับ ชี้อุตฯไทยของจริง เป็นฐานการผลิตที่แข็งแกร่ง การส่งออกรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวครั้งมโหฬาร ขณะที่ MPI เดือน ม.ค.ไม่น้อยหน้า ขยายตัว 3.7% กำลังการผลิตสูง 62.13%
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมในปี 2553 มีอัตราการขยายตัวที่ถือว่าดีมาก โดย GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้สูงถึง 13.9% เป็นสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 16 ปีนับจากปี 2537 (Q1 22.9%Q2 17.6%,Q3 11.6%และQ4 4.8%) ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างมีเสถียรภาพ รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่การลงทุนภาครัฐมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอัตราการขยายตัว ขณะที่ภาคเอกชนเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้นและพร้อมอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้อัตราการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมไทย ปี 2554 เป็นไปในทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกันกับ อัตราการขยายตัวของดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม หรือ MPI ขยายตัวได้สูงถึง 14.4% เป็นสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี นับจากปี 2543 ที่ สศอ.เริ่มจัดทำ MPI ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 63.3% เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ MPI ปัจจัยหลักมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และปัจจัยภายในประเทศที่ได้รับแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุน และการใช้จ่ายของภาครัฐ
ในปี 2553 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวได้ได้สูงถึง 29.7% ซึ่ง อุตฯ หลักที่สำคัญ 3 อันดับแรก ประกอบด้วย ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ที่ขยายตัว 55.2% 32.4% และ 21.9% ตามลำดับ นอกจากนี้หากพิจารณาการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบ ที่มีการขยายตัว 29.8% และ 44.4% จะเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงภาพบวกของการลงทุนการผลิตที่สูงขึ้นนั่นเอง
นางสุทธินีย์ กล่าวว่า ในปี 2554 อัตราการขยายตัวของ GDP ภาคอุตสาหกรรม และ MPI จะขยายตัวอยู่ที่ 5.5-6.5% และ 6.0-8.0% ตามลำดับ ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตจะอยู่ที่ 64.0-66.0% โดย สศอ.ยังคงคาดการณ์นี้ไว้เท่ากับที่ได้เคยประเมินในช่วงปลายปี 2553 เนื่องจากภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออกในหมวดสินค้าสำคัญ เช่น ยานยนต์ Hard disk drive เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อการขยายตัวได้แก่ เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวชัดเจน รวมทั้งการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย จะกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม สศอ. ยังได้ประเมินปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวที่สำคัญได้แก่ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากค่าแรงที่สูงขึ้น ขณะที่ต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาโดมิโน่การโค่นล้มผู้นำประเทศในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ จะส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่พุ่งสูงและมีความผันผวน ซึ่งปัจจัยนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนที่มีระหว่างกัน ซึ่งในปี 2553 ประเทศไทยมีการค้าการส่งออกไปยังประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาในสัดส่วน 8.5% ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 5.1 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ นางสุทธินีย์ ได้สรุปตัวเลข MPI เดือนมกราคม 2554 ว่า MPI เดือน ม.ค.ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอัตราการใช้กำลังการผลิต 62.13% อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ MPI เดือน ม.ค.เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญได้แก่ การผลิตยานยนต์ หลอดอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ขณะที่การผลิต Hard disk drive เบียร์ ลดลงเล็กน้อย
การผลิตรถยนต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้น 20.7% และ 18.6%ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของโลกและของประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับตลาดภายในประเทศได้รับผลดีจากค่ายรถยนต์ต่างมีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ออกมาเสนอเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค โดยเฉพาะรถยนต์ภายใต้โครงการอีโคคาร์ ที่ออกมากระตุ้นตลาดทำให้ตลาดรถยนต์คึกคักเป็นอย่างยิ่ง ส่งผลให้การจำหน่ายรถยนต์นั่งขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1800 c.c.เพิ่มสูงขึ้นถึง 61.2% ขณะเดียวกันจากปัจจัยราคาพืชผลทางการเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นส่งผลต่อยอดการจำหน่ายรถกะบะขนาด 1ตัน เพิ่มขึ้นถึง 17.6% จากปีก่อน และยังคาดว่าในปี 2554 นี้ ปัจจัยราคายางพาราที่พุ่งสูงขึ้น จะส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยางใหม่ โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีกำลังซื้อมากขึ้นจึงส่งผลต่อยอดการจำหน่ายรถกะบะที่สูงขึ้นอย่างมาก
การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 18% และ 19% ตามลำดับ เนื่องจากตลาดโลกยังมีความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้ค่อนข้างสูง ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตเพื่อการส่งออกที่สำคัญจึงได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าที่สำคัญในกลุ่มนี้ได้แก่ Monolithic IC มีการผลิตและจำหน่าย เพิ่มขึ้น 21.95%และ 2.84% ตามลำดับ
การผลิตเครื่องปรับอากาศ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 27.2%และ31.4% ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวผู้ประกอบการได้ส่งสินค้ารุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ จึงได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา และยุโรปอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งปัจจัยการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นหลายโครงการ โดยเฉพาะบริเวณที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ส่งผลต่อยอดการผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศที่สูงขึ้น
นางสุทธินีย์ สรุปภาพรวม MPI เดือนมกราคมคม 2554 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ดังนี้
ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 186.30 เพิ่มขึ้น 3.70% จากระดับ 179.65 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 182.14 เพิ่มขึ้น 2.27% จากระดับ 178.10 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง 187.07 เพิ่มขึ้น 4.47% จากระดับ 179.08 ดัชนีผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 152.44 เพิ่มขึ้น 10.18% จากระดับ 138.36 ขณะที่ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 117.47 ลดลง -0.36% จากระดับ 117.90 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 62.13%
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต
Index 2553 2554
ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ม.ค.
ดัชนีผลผลิต 179.65 183.23 212.45 179.95 185.02 194.19 190.12 183.71 201.47 191.21 190.43 188.38 186.30
อุตสาหกรรม
อัตราการเปลี่ยนแปลง (MOM) % -7.9 2.0 15.6 -15.6 2.8 5.07 -2.05 -3.14 9.65 -4.91 -0.45 -0.10 -1.10
อัตราการ 29.1 31.1 32.6 23.0 15.9 14.34 13.16 8.67 8.13 6.24 5.61 -2.48 3.70
เปลี่ยนแปลง (YOY) %
อัตราการใช้ 60.4 60.6 67.9 57.9 64.0 65.66 62.40 64.03 64.36 64.11 63.63 63.39 62.13
กำลังการผลิต %
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม