กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--ก.ไอซีที
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนองค์ความรู้ให้กับเว็บไซต์ศูนย์กลางความรู้แห่งชาติ (www.tkc.go.th) ระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กับ 6 สถาบันการศึกษา และเทศบาลนครสงขลา ว่า ภายหลังจากกระทรวงฯ ได้จัดทำ “ศูนย์กลางความรู้แห่งชาติ” (Thailand Knowledge Center : TKC) ในรูปแบบของเว็บไซต์ที่มีชื่อว่า www.tkc.go.th ซึ่งเป็น Web Portal ที่รวบรวมความรู้ในทุกสาขาวิชา เพื่อเป็นศูนย์กลางให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ต้องการสืบค้นข้อมูลในด้านต่างๆ ได้เข้ามาแสวงหาความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 6 แล้ว ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้มีการพัฒนาเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง ทั้งระบบคอมพิวเตอร์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงองค์ความรู้ที่เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์
“สำหรับการพัฒนาเว็บไซต์ฯ ในปีนี้กระทรวงฯ ได้ร่วมมือกับ 6 สถาบันการศึกษา คือ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันทักษิณคดีศึกษา รวมทั้งเทศบาลนครสงขลา นำองค์ความรู้สาขาวิชาต่างๆ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในลักษณะสื่อดิจิทัลรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ลักษณะตัวอักษร รูปภาพ สื่อมัลติมีเดีย รวมถึง link เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับหัวข้อองค์ความรู้ของ TKC และเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ของโครงการฯ ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ และกระทรวงฯ จะให้ความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์สถาบันการศึกษาที่ให้ความร่วมมือผ่านทางเว็บไซต์ ด้วยการสื่อความหมายในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่ได้เข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้ได้รับทราบเกี่ยวกับหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือสนับสนุนการพัฒนาเว็บไซต์ในครั้งนี้” นางจีราวรรณ กล่าว
กระทรวงฯ หวังว่าความร่วมมือระหว่างกระทรวงฯ และหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนองค์ความรู้ในครั้งนี้ จะทำให้การจัดทำโครงการจัดตั้งศูนย์กลางความรู้แห่งชาติ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์หลักที่วางไว้ คือ การรวบรวมองค์ความรู้อันทรงคุณค่าจากประชาชน บุคลากรในหน่วยงานภาครัฐ การสร้างและประสานเครือข่ายด้านการจัดการความรู้กับหน่วยงานที่สร้างองค์ความรู้ให้กับสังคมไทย เพื่อให้เกิดช่องทางในการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน รวมถึงเป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้ในเรื่องต่างๆ ให้แก่ประชาชนที่สนใจ ด้วยการจัดทำระบบและการจัดเก็บรวบรวมองค์ความรู้ สร้างสื่อดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ ที่ครอบคลุมถึงสื่อมัลติมีเดีย โดยมีการจัดแบ่งองค์ความรู้ออกเป็นกลุ่ม ประกอบด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น และองค์ความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อให้บริการแก่สังคมอย่างครบถ้วนและทั่วถึง
?
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 021416747 MICT