กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--เนคเทค
จากภาพ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (ที่1จากซ้าย) คุณทัชนันท์ กังวานตระกูล (Authorized Lead Appraiser จาก Software Engineering Institute: SEI, USA) จากบริษัท ISEM จำกัด เป็น Lead Appraiser (กลาง) ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการเนคเทค (ที่ 3 จากซ้าย)
ขอแสดงความยินดีกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) หน่วยงานของรัฐหน่วยงานเดียว ณ ขณะนี้ที่ผ่านการประเมินการทำงานตามหลักการ CMMI (SCAMPI A for Capability Maturity Model Integration) ในระดับ Maturity Level 3 (Staged) ซึ่งมีหน่วยปฏิบัติการวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (SWE: Software Engineering Laboratory) เป็นตัวแทนขององค์กรในการประเมินทางการดังกล่าว การประเมินทางการครั้งนี้ได้รับเกียรติจากคุณทัชนันท์ กังวานตระกูล (Authorized Lead Appraiser จาก Software Engineering Institute: SEI, USA) จากบริษัท ISEM จำกัด เป็น Lead Appraiser
โครงการพัฒนาคุณภาพกระบวนการเนคเทคสู่มาตรฐาน CMMI-ML3 ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจาก ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการเนคเทค ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 โดยมีความต้องการที่จะเห็นเนคเทคทำงานอย่างเป็นระบบ เป็นสากลและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และการเลือก CMMI for Development ก็เพราะเป็นหลักการหนึ่งที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานที่พัฒนาซอฟต์แวร์เท่านั้น ยังรวมถึงหน่วยงาน R&D อีกด้วย นอกจากนี้จะเห็นว่า SMEs ของไทยเริ่มให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกระบวนการมากขึ้น โดยพบว่า 34 บริษัทได้ผ่านการประเมิน CMM/CMMIมาแล้ว (ข้อมูลจาก www.swpark.or.th) และผลสำรวจแนวโน้มด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ปี 2553 พบว่าประมาณ 1 ใน 3 ของกว่า 500 บริษัทที่ให้บริการด้านซอฟต์แวร์ สนใจนำ CMMI มาใช้เพิ่มคุณภาพซอฟต์แวร์ ส่วนที่เหลือจะเน้นการนำหลักการ/เทคนิคต่างๆ มาสนับสนุนการทำงาน เช่น ISO, Six Sigme, Agile เป็นต้น (ผลสำรวจจาก SoftServe, Inc., www.executivebrief.com) การที่ CMMI ได้รับความสนใจมากนั้น อาจเป็นเพราะหลักการดังกล่าวมีทีมงานเฉพาะของ SEI (ผู้แทนจากหลายประเทศ) ร่วมพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยการรวบรวม Best Practices จากการทำงานจริงมาวิเคราะห์ และกลั่นกรองนั่นเอง
ความตั้งใจของเนคเทคที่ประยุกต์ใช้หลักการ CMMI นอกจากเพื่อสนับสนุนการทำงานระดับประเทศแล้ว ยังมองถึงการเป็นตัวอย่างหน่วยงานของรัฐที่ตระหนักถึงประโยชน์ของการพัฒนาคุณภาพงานจากคุณภาพของกระบวนการทำงานที่ดี ทั้งยังสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์แก่ SMEs หรือหน่วยงานภายนอกที่มีความต้องการยกระดับคุณภาพของงาน นำไปสู่การเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทยในตลาดโลกต่อไป