กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--สคร.
คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ร่าง พ.ร.บ.การกำหนดกิจการ หลักเกณฑ์ และขั้นตอนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. เชื่อมั่นจะมีผลบังคับใช้ทันสิ้นปี 2550 และจะเป็นกฎหมายใหม่ของการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้ดียิ่งขึ้น
การประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (19 มิถุนายน 2550) มีมติเห็นชอบร่าง พระราชบัญญัติการกำหนดกิจการ หลักเกณฑ์ และขั้นตอนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. โดยขั้นตอนต่อจากนี้จะนำเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาตรวจร่าง ก่อนเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป และ คาดว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2550 นี้
วัตถุประสงค์ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นกฎหมายกลางสำหรับการแปรรูปอย่างครบวงจร ตั้งแต่การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจไปจนถึงการกระจายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งการดำเนินงานทุกขั้นตอนจะต้องเปิดเผยและเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ และมีกระบวนการรายงานต่อรัฐสภา โดยกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกรัฐวิสาหกิจเพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูปจะต้องมีมูลค่าทรัพย์สินเกินกว่า 2,000 ล้านบาท และจะไม่มีการจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้มีอุปการะคุณ โดยจะให้ความสำคัญกับประชาชนทั่วไป ด้วยวิธีการจัดสรรแบบขั้นบันได หรือโดยวิธีการอื่นซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความสำคัญแก่ผู้จองซื้อหุ้นจำนวนน้อย และห้ามมิให้ผู้ใดถือหุ้นของบริษัทที่แปลงสภาพเกินกว่า 5%
นอกจากนี้กรอบของกฎหมายกำหนดให้การแปรรูปจะต้องไม่โอนอำนาจในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรืออำนาจในการอนุมัติ อนุญาต ฯลฯ หรืออำนาจอื่นใดที่เป็นอำนาจมหาชน หรือสิทธิพิเศษที่มีอยู่ในรัฐวิสาหกิจนั้นไปให้แก่กิจการที่แปรรูปเป็นบริษัท โดยสิทธิพิเศษนี้หมายรวมถึงการได้รับยกเว้นไม่ต้องให้อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า หรือกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร
กระบวนการแปรรูปตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมีการดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการ 3 คณะประกอบด้วย 1.คณะกรรมการนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่เสนอแนวทางและหลักเกณฑ์การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เหมาะสม และกำกับดูแลกิจการของรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปโดยทั่วไป 2. คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี มีปลัดที่มีอำนาจกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่จะแปรรูปเป็นประธาน และผู้แทนองค์กรที่เป็นนิติบุคคลเข้ามาคุ้มครองผู้บริโภค ทำหน้าที่กำหนดรายละเอียดการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจและการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจการที่จะแปรรูป 3. คณะกรรมการกระจายหุ้น ทำหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการกระจายหุ้น และราคาหุ้นที่จะจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไป
นอกจากนี้ ในการจัดทำ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังครอบคลุมถึงกรณีที่รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งต้องการจัดตั้งบริษัทลูกหรือนิติบุคคลอื่นใดเพื่อประกอบกิจการขึ้นแทนตนเอง กิจการนั้นจะต้องไม่เป็นการประกอบกิจการซึ่งโดยสภาพของกิจการหรือการลงทุนทำให้ไม่มีการแข่งขันในตลาด หรือกิจการเกี่ยวกับการผลิตสินค้าหรือบริการที่มีผลเสียต่อสุขภาพอนามัยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องไม่มีการโอนอำนาจมหาชนหรือสิทธิพิเศษอื่นใดไปให้บริษัทลูกที่จัดตั้ง นอกจากนี้ การกระจายหุ้นของบริษัทลูกที่มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจต้องดำเนินการตาม ร่าง พ.ร.บ.นี้ด้วย
ตาม ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ หากมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีผลทำให้พระราชบัญญัติ ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ถูกยกเลิกทันที ซึ่งแม้จะไม่มีผลดำเนินงานกับรัฐวิสาหกิจที่แปลงสภาพและจดทะเบียนเป็นบริษัทแล้ว แต่จะมีผลกับการกระจายหุ้นครั้งใหม่ ซึ่งจะต้องดำเนินการในหมวดว่าด้วยการกระจายหุ้นของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจที่แปลงสภาพไปแล้วในอดีต แต่ยังไม่มีการกระจายหุ้น ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้เช่นกัน ซึ่งประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะทำให้การกำกับดูแลและพัฒนารัฐวิสาหกิจเป็นไปในเชิงบูรณาการและก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)
0-2298-5880-9 ต่อ 6610