บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ อนุมัติเพิ่มสัดส่วนผู้ลงทุนสถาบัน เพิ่มเสถียรภาพตลาดทุน

ข่าวทั่วไป Monday February 12, 2007 15:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--ตลท.
คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ อนุมัติเพิ่มผู้ลงทุนสถาบันเป็นร้อยละ 40 ในปี 2550 และเพิ่มเป็นร้อยละ 50 ในปี 2552 เพื่อเพิ่มเสถียรภาพของตลาดทุน รวมทั้ง อนุมัติการทำงานร่วมกับบริษัทสมาชิกและธนาคารพาณิชย์ เพื่อจัดตั้งสำนักงานสาขาออนไลน์หรือ Cyber Branch ของบริษัทสมาชิกหรือสาขาของธนาคารพาณิชย์ 30 แห่งในปี 2550 เพื่อให้บริการด้านหลักทรัพย์ขยายช่องทางในการเข้าถึงการลงทุนในตลาดทุน นอกจากนี้ได้อนุมัติกิจกรรมเพื่อสร้างฐานผู้ลงทุนระยะยาวให้มีจำนวนเพียงพอ ในขณะเดียวกันจะแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียน เพื่อเอื้ออำนวยแก่การเพิ่มบริษัทจดทะเบียนใหม่ และการรักษาบริษัทจดทะเบียนปัจจุบัน
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 ได้มีมติอนุมัติทบทวนการปรับเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนผู้ลงทุนสถาบันเป็นร้อยละ 40 ในปี 2550 โดยเน้นการเพิ่มผู้ลงทุนสถาบันในประเทศ พร้อมกับการเพิ่มผู้ลงทุนสถาบันต่างประเทศ และเพิ่มเป็นร้อยละ 50 ในปี 2552
“คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นว่าตั้งแต่ปลายปี 2549 เป็นต้นมา ได้มีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุนไทยจึงต้องเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการปรับปรุงและแก้ไขข้อกฎหมายหรือประกาศที่เกี่ยวข้อง นโยบายการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ในปี 2555 รวมทั้ง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ
คณะกรรมการจึงเห็นชอบให้เพิ่มสัดส่วนผู้ลงทุนสถาบัน เพื่อเพิ่มเสถียรภาพของตลาดทุน โดยเน้นส่งเสริมให้เพิ่มจำนวนผู้ลงทุนสถาบันในประเทศให้มากขึ้น พร้อม ๆ กับการเพิ่มความน่าสนใจ เพื่อดึงดูดผู้ลงทุนสถาบันจากต่างประเทศ ทั้งโดยการให้ข้อมูลโดยตรง การจัดทำฐานข้อมูลที่มีความสมบูรณ์ และครบวงจร เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำไปวิเคราะห์ประกอบการลงทุน นอกจากนี้ จะมีการไปโรดโชว์เพื่อไปให้ข้อมูลโดยตรงแก่ผู้ลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ โดยจะทำงานร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจดทะเบียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน” นางภัทรียากล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2550 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้กำหนดแผนงานในการจัดให้มีระบบการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์โดยตรงหรือ Direct Market Access (DMA) เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งคำสั่งของผู้ลงทุนสถาบัน รวมทั้ง การจัดทำระบบที่มีข้อมูลการลงทุนของทุกตราสารอย่างครบถ้วน พร้อมทั้ง เพิ่มความน่าเชื่อถือโดยการส่งเสริมบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียน โดยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มคะแนนด้านบรรษัทภิบาล ในด้านสิทธิของผู้ถือหุ้นเป็นร้อยละ 75 ในปี 2552 และเพิ่มคะแนนด้านความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เป็นร้อยละ 64 ในปี 2552
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการได้การเพิ่มช่องทางในการสื่อสาร เพื่อเพิ่มความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับความสำคัญของตลาดทุนต่อระบบเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำงานร่วมกับบริษัทสมาชิก และธนาคารพาณิชย์ เพื่อจัดตั้งสำนักงานสาขาออนไลน์ หรือ Cyber Branch ของบริษัทหลักทรัพย์หรือร่วมกับสาขาของธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้บริการด้านหลักทรัพย์แก่ผู้ลงทุน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สะดวกขึ้น โดยในปี 2550 ตั้งเป้าหมายที่จะมีสำนักงานสาขาออนไลน์ จำนวน 30 แห่ง และเพิ่มเป็น 120 แห่งในปี 2552
นางภัทรียากล่าวด้วยว่า “พร้อมกันนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ การลดระยะเวลาและขั้นตอนในการนำหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียน การแก้ไขข้อจำกัดและเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ เพื่อส่งเสริม ตราสารหรือสินค้าประเภทใหม่ การผลักดันสิทธิประโยชน์ในเรื่องภาษีนิติบุคคลสำหรับบริษัทจดทะเบียน รวมถึง การติดตามกฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่อาจส่งผลในทางปฏิบัติกับบริษัทจดทะเบียนเช่นการปรับปรุงและแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และธุรกิจหลักทรัพย์ ปี 2535 การปรับปรุงมาตรฐานการบัญชี และกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อดึงดูดบริษัทที่มีศักยภาพเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และ สามารถรักษาบริษัทจดทะเบียนในปัจจุบันไว้ด้วย”
นอกจากนี้ คณะกรรมการยังอนุมัติการดำเนินงาน 2 โครงการ เพื่อส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารเงินอย่างถูกต้อง รวมทั้ง การสร้างฐานผู้ลงทุนระยะยาวให้มีจำนวนมากเพียงพอ โดยโครงการที่ 1 เป็นการผลักดันให้โปรแกรมจำลองการลงทุนหรือ Investment Simulation เป็นหนึ่งในวิชาเลือกของมหาวิทยาลัย เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษานำไปใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน เพื่อให้นิสิต นักศึกษา รวมถึงบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา ได้มีพื้นฐานในการบริหารจัดการด้านการเงิน การออมและการลงทุนอย่างถูกต้อง โครงการที่ 2 คือการสร้างศูนย์การเรียนรู้ด้านการเงินและการลงทุนแบบครบวงจรแห่งใหม่ โดยจะต่อยอดรูปแบบของห้องสมุดมารวยที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดตั้งขึ้นและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยคาดว่าจะเริ่มจัดตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกในกรุงเทพฯ ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร.0-2229—2036 / ศรินทร์ลักษณ์ จิตกะวงศ์ โทร.0-2229—2037/
ณัฐพร บุญประภา โทร.0-2229 — 2049 / วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร.0-2229-2797

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ