กรุงเทพฯ--7 มี.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง
กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกโรงเตือนผู้บริโภคระวังการแอบอ้างจำหน่าย ชมพู่เพชร พันธุ์เพชรสายรุ้ง” สินค้า จีไอของจังหวัดเพชรบุรี ชี้มีการนำชมพู่สายพันธุ์อื่นมาแอบอ้างโดยติดป้ายโฆษณา ชมพู่เพชร และวางขายในราคาสูงกว่าความจริง ระบุมีการวางจำหน่ายในตลาด อตก.จังหวัดนนทบุรี และเขตจตุจักร รวมถึงห้างเซ็นทรัล ชี้ ชมพู่เพชร ต้องเป็นพันธุ์เพชรสายรุ้งเท่านั้น ผู้ใด ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท
นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับการร้องเรียนจากผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ระบุว่าได้มีผู้ค้าชมพู่ในตลาด อตก.นนทบุรี และเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร รวมถึงห้างเซ็นทรัล ได้นำชมพู่สายพันธุ์อื่น คือ ชมพู่เพชรสุวรรณมา แอบอ้างติดป้ายว่าเป็น “ชมพู่เพชร” หรือ “ชมพู่เพชร พันธุ์สายรุ้ง” มาจำหน่ายในท้องตลาดในราคาที่ค่อนข้างสูง ซึ่งถือเป็นการแอบอ้าง และโฆษณาให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดคิดว่าชมพู่ดังกล่าวเป็นชมพู่เพชรแท้ ซึ่งชมพู่เพชร พันธุ์เพชรสายรุ้ง นั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชมพู่เพชร พันธุ์เพชรสายรุ้ง” ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2551 ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546
“ช่วงเวลานี้ผลผลิตชมพู่เพชร พันธุ์เพชรสายรุ้ง ของจังหวัดเพชรบุรีได้เริ่มทยอยออกสู่ตลาดบ้างแล้ว และจะทยอยออกสู่ตลาดมากตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม 2554 การที่จังหวัดเพชรบุรี โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีได้ส่งจดหมายมายังกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้ตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ค้าในตลาดดังกล่าวข้างต้น รวมถึงห้างเซ็นทรัลว่ามีพฤติกรรมดังกล่าวหรือไม่ ทั้งนี้การส่งจดหมายดังกล่าวนั้นเป็นเพราะมีการร้องเรียนจากเกษตรกรกลุ่มผู้ปลูก ชมพู่เพชร พันธุ์เพชรสายรุ้ง ของจังหวัดเพชรบุรี อีกทั้งเพื่อป้องกันการแอบอ้างหลอกลวงจากผู้บริโภคให้สับสน หรือหลงผิดในสินค้า และเพื่อรักษาชื่อเสียงของสินค้าชมพู่เพชร พันธุ์เพชรสายรุ้ง” นางปัจฉิมากล่าว
นางปัจฉิมากล่าวต่อไปว่าจากการที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ชมพู่เพชร พันธุ์เพชรสายรุ้ง ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2551 ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546 ระบุว่าการใช้ชื่อ ชมพู่เพชร ต้องเป็น พันธุ์เพชรสายรุ้งเท่านั้น ห้ามมิให้ใช้กับชมพู่สายพันธุ์อื่น ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งขี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546 มาตรา 27 ที่ระบุว่าการกระทำดังต่อไปนี้ถือว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบ กล่าวคือ การใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพื่อแสดงหรือทำให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าสินค้าที่มิได้มาจากแหล่งภูมิศาสตร์ที่ระบุในคำขอขึ้นทะเบียนสินค้าที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว และ การใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยประการใดที่ทำให้เกิดความสับสน หรือหลงผิดในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้า และในคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะอื่นของสินค้านั้น เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบการค้ารายอื่น ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 39 ว่า ผู้ใดกระทำการตามมาตรา 27 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท
สำหรับความแตกต่างระหว่างชมพู่เพชร พันธุ์สายรุ้ง กับชมพู่เพชรสุวรรณนั้นเห็นได้ชัดเจนคือ ชมพู่เพชร พันธุ์เพชรสายรุ้งก้นผลแคบ สีชมพูเข้ม เนื้อแข็งกรอบ เนื้อหนา มีสีเขียวอ่อนปนชมพู มีแถบสีชมพู (เส้นเอ็น) เป็นริ้ว มีเมล็ด 1-3 เมล็ด และมีรสชาติหวานกลมกล่อม มีเปอร์เซ็นต์ความหวาน 8-15 องศาบริกซ์ ขณะที่ชมพู่เพชรสุวรรณมีก้นผลกว้าง ขอบสีแดง เนื้อนิ่ม ไม่กรอบ ค่อนข้างบาง มีสีเขียวปนคล้ำ มีเส้นเอ็นสีแดงเห็นชัดเจน มีเมล็ด 1-3 เมล็ด มีรสจืด — หวาน และมีเปอร์เซ็นต์ความหวาน 6-11 องศาบริกซ์
รายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ อินทิรา ใจอ่อนน้อม
เอกภพ พันธุรัตน์
บริษัท 124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง จำกัด
โทร. 02-718-1886