กรุงเทพฯ--7 มี.ค.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันพุธที่ 2 มีนาคม 2554 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 201 ตึก “ อานันทมหิดล ” โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศร ภัทราดูลย์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานในการประกาศผลการคัดเลือก “ นิสิตแพทย์ : เพชรชมพู ” [ ครูแพทย์ — นักวิจัย ] ใน โครงการ “ เพชรชมพู ” การผลิตบัณฑิตแพทย์ ที่มีความสามารถสูง ด้าน “ การเป็นครูแพทย์ ” และ “ การวิจัย ” เพื่อการพัฒนาประเทศ ของ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มี นิสิตแพทย์ ได้รับการคัดเลือกรวม 8 คน ประกอบด้วย ครูแพทย์ 4 คน และ นักวิจัย 4 คน
โครงการ “ เพชรชมพู ” เป็นโครงการใหม่ที่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกของโรงเรียนแพทย์ในประเทศไทย โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์โศภณ นภาธร รองคณบดี ฝ่ายวิชาการ เป็น “ ประธาน ”โครงการฯ เพื่อสนับสนุนให้ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คงความเป็น โรงเรียนแพทย์ชั้นแนวหน้าของประเทศ และอยู่ใน ระดับสากล ( World Class Medical School ) โดยใช้กลยุทธ์ของการเสริมสร้างศักยภาพของนิสิตแพทย์ ให้มีความสามารถในด้าน “ การวิจัย ” และมีความสามารถที่จะปฏิบัติงานเป็น “ ครูแพทย์ ” ใน โรงเรียนแพทย์ระดับสากล ( World Class Medical School ) สู่การสร้างสรรค์ประสิทธิผลสูงสุด อย่างไรก็ตาม การพัฒนาศักยภาพนิสิต ให้มีความสามารถเพิ่มเติม จากความรู้ทางการแพทย์ ที่บัณฑิตแพทย์ทุกคนพึงมี ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้เพิ่มเติมในการวิจัย หรือการเป็นครูแพทย์ ล้วนเป็นภารกิจที่จะต้องอาศัย เวลา และ การทุ่มเท ทั้งจาก “ นิสิต ” และ “ อาจารย์ที่ปรึกษา ” รวมถึง งบประมาณ ดังนั้น การจะเสริมสร้างและพัฒนานิสิต ให้มีความสามารถพิเศษในด้านการเป็นครูแพทย์และนักวิจัย จึงต้องแบ่งการดำเนินงาน ที่จะเสริมสร้างศักยภาพนิสิตออกเป็น ๒ โครงการย่อย เพื่อส่งเสริมให้นิสิตแพทย์สามารถพัฒนาศักยภาพ ในด้านที่นิสิตสนใจได้อย่างเต็มที่ ได้แก่ “ เพชรชมพู : ครูแพทย์ ” ซึ่งมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วรรณไกรโรจน์ เป็น ประธานคณะอนุกรรมการ “ เพชรชมพู : ครูแพทย์ ” และ “ เพชรชมพู : นักวิจัย ” ซึ่งมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ เป็น ประธานคณะอนุกรรมการ “ เพชรชมพู : นักวิจัย ” ซึ่งทั้ง ๒ โครงการย่อยนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูแพทย์ในปัจจุบัน และช่วยสร้างเสริมศักยภาพและความสามารถด้านการวิจัย อันจะช่วยพัฒนางานวิจัยทางการแพทย์ในอนาคต ให้ก้าวหน้าทัดเทียนนานาประเทศสากล ทั้งยังจะเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศต่อไป
“ นิสิตแพทย์ : เพชรชมพู ” ผู้ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วม โครงการ “ เพชรชมพู ” ( ครูแพทย์ — นักวิจัย ) จะได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมจากการเรียนปกติในหลักสูตร “ แพทยศาสตรบัณฑิต ” มีระยะเวลาดำเนินงาน ๕ ปี โดยเริ่มต้นใน ปีการศึกษา ๒๕๕๓ เดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยใช้จะงบประมาณ ( เพิ่มเติม ) ๙ แสน — ๑ ล้านบาท / คน ซึ่งทั้งโครงการฯ จะใช้งบประมาณรวม ๓๕ — ๔๐ ล้านบาท ( เพิ่มเติมจากงบประมาณการผลิตแพทย์ปกติ )