กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--สวรส.
ชี้รัฐบาลไม่ควรหวั่นผลกระทบจากการประกาศเขตควบคุมมลพิษ เหตุอาจทำให้เป็นจุดเปลี่ยนในการเลือกอุตสาหกรรมให้เหมาะกับประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสะอาด (Clean Technology) เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับคนในชุมชน ลดปัญหามลพิษอุตสาหกรรมและสังคมอุตสาหกรรม พร้อมร้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้นเพื่อเป็นกรณีศึกษาสำหรับนิคมอุตสาหกรรมที่อื่นๆ
จากกรณีที่หลายฝ่ายที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศเขตควบคุมมลพิษในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แต่รัฐบาลก็ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะตัดสินใจประกาศให้นิคมมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษหรือไม่ เนื่องจากอาจมีข้อกังวลในการประกาศเขตควบคุมมลพิษนิคมมาบตาพุด อาจทำให้เสียบรรยากาศในการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งถือเป็นการทำลายความมั่นคงของประเทศประการหนึ่ง เพราะทำให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จึงเกิดความสับสนกับประชาชนว่าการประกาศเขตควบคุมมลพิษนั้นจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงไร
นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ทำวิจัยเรื่องสถานการณ์ปัญหามลพิษและผลกระทบทางสุขภาพของประชาชน แนวทางการดำเนินงานของรัฐ และข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหา กรณีพื้นที่อุตสาหกรรม อำเภอเมืองและอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเผยว่า การประกาศเขตควบคุมมลพิษนั้นเป็นอำนาจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่จะประกาศให้ท้องถิ่นใดที่ประสบปัญหามลพิษ ที่มีแนวโน้มร้ายแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นเขตควบคุมมลพิษ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 โดยเริ่มต้นการจัดทำแผนทำการเก็บข้อมูลจากแหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ โดยท้องถิ่นและคนในพื้นที่เก็บรวบรวมเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าฯ สามารถประกาศมาตรฐานมลพิษที่เข้มงวดขึ้นได้ เพื่อส่งเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้กำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดต่อไป รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็เสนอขอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเห็นชอบและคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ในการจำกัดประเภทของอุตสาหกรรมที่จะสร้างมลพิษที่เป็นอันตรายต่อประชาชน
การประกาศเขตควบคุมมลพิษจะช่วยให้ภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนได้มีกลไกในการทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยกันควบคุมและลดมลพิษภายในพื้นที่ และมีขั้นตอนการดำเนินงานที่เป็นระบบมากขึ้น โดยมีการจัดทำแผนดำเนินการและมีเป้าหมายการดำเนินการร่วมกันอย่างชัดเจน เมื่อมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษแล้ว การแก้ปัญหามลภาวะจะเป็นไปอย่างมีระบบและมีเป้าหมายมากขึ้น ในขณะเดียวกันภาคส่วนต่างๆ จำเป็นจะต้องแก้ไขปัญหาที่เป็นผลกระทบทางสุขภาพ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยเช่นกัน โดยควรมีการจัดทำแผนปฏิบัติการในลักษณะเดียวกันทั้งหมด เพื่อให้ภาวะความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่บรรเทาลง ในขณะเดียวกันการประกาศเขตควบคุมมลพิษจะช่วยสร้างมาตรฐานการจำกัดการใช้สารอินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งและโรคระบบทางเดินหายใจซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานดังกล่าว
การประกาศเขตควบคุมมลพิษ เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 โดยในมาตรา 59 ระบุว่า “ในกรณีที่ปรากฏว่าท้องที่ใดมีปัญหามลพิษ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้ท้องที่นั้นเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลดและขจัดมลพิษได้” โดยผู้ว่าราชการจังหวัดควรกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดให้สูงกว่ามาตรฐานซึ่งบังคับใช้อยู่โดยทั่วไปได้ เช่น มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศหรือมาตรฐานน้ำทิ้งของโรงงานอุตสาหกรรม และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินั้นจะกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้แก่ คุณภาพน้ำ อากาศ เสียง และเรื่องอื่นๆ สำหรับเขตควบคุมมลพิษให้สูงกว่ามาตรฐานที่บังคับใช้อยู่โดยทั่วไปได้
อาจารย์เดชรัต กล่าวต่อว่าหากปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในเขตควบคุมมลพิษ มีความรุนแรงเข้าขั้นวิกฤตจำเป็นต้องแก้ไขทันที รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็สามารถเสนอให้มีการใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ ดังนี้ 1.กำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน 2.ห้ามการกระทำหรือกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 3.กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการ ให้ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 4.กำหนดวิธีการจัดการรวมทั้งขอบเขต หน้าที่และความรับผิดชอบของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน 5.กำหนดมาตรการอื่นๆ ที่เห็นสมควรและเหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ โดยการใช้มาตรฐานดังกล่าวต้องเสนอขอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ความเห็นชอบ และเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ
อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่ควรกังวลเรื่องผลกระทบต่อผู้ลงทุนจนมากเกินไป เพราะไม่น่าจะมีผลกระทบมากเพียงใด ทางออกหนึ่งคือการเลือกอุตสาหกรรมที่จะดำเนินการในพื้นที่ เช่นอุตสาหกรรม Clean Technology ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนรูปแบบของอุตสาหกรรม ที่ตอบสนองกับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนในอนาคต