ผลผลิตงานวิจัยของ วช. ช่วยเกษตรกรมีรายได้หลังน้ำลด

ข่าวทั่วไป Tuesday March 8, 2011 11:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ขานรับนโยบายจากนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาวิจัย ในการเร่งช่วยเหลือและฟื้นฟูเยียวยาผู้ที่ประสบอุทกภัย และร่วมแก้ปัญหาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมาของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ นครราชสีมา วช. ในฐานะหน่วยงานกลางที่มีนโยบายในการสนับสนุนการวิจัย จึงได้จัด “โครงการการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดด้วยงานวิจัยของ วช.” ใน ๓ จังหวัดดังกล่าวขึ้น พร้อมทั้งลงพื้นที่เพื่อนำเมล็ดพันธุ์พืชที่เป็นผลงานวิจัยของ วช. ไปมอบให้กับเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการประกอบอาชีพเสริมในการฟื้นฟูหลังน้ำลด ซึ่งจากการลงพื้นที่ดังกล่าวเกษตรกรได้มีการนำเมล็ดพันธุ์ลงปลูกได้ผลเป็นที่น่าพอใจทั้งทางหน่วยงานเองและทางเกษตรกรชาวบ้านที่ได้รับในการลงพื้นที่ในจังหวัดนครสวรรค์ วช. ได้จัด “การประชุมเชิงปฏิบัติการการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเพื่อฟื้นฟูพื้นที่น้ำท่วม” ในวันศุกร์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ขึ้น ณ สักทอง รีสอร์ท จังหวัดนครสวรรค์ โดยนางสุนันทา สมพงษ์ ผู้อำนวยการภารกิจโครงการและประสานงานวิจัย เป็นประธานเปิดในเวลา ๐๙.๐๐ น. เพื่อเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรโดยนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ อาทิ เทคนิคการผลิตไม้ผลอย่างไรให้ได้คุณภาพ เทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดหวาน การใช้เทคโนโลยีจากงานวิจัยในการผลิตผักเพื่อคุณภาพ และเทคโนโลยีการทำปุ๋ยจากขยะ เป็นต้น ผอ.สุนันทา เปิดเผย จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชุมชนที่ได้รับเมล็ดพันธุ์พืชจาก วช.เป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง เกษตรกรสามารถนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกได้แก่ ข้าวโพด พริก ถั่วฝักยาว เป็นต้น ซึ่งเป็นพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น พืชโตได้ผลผลิตดี อีกทั้งการบำรุงรักษายังใช้ปุ๋ยชีวภาพที่เกิดจากการหมักของเศษฟาง สิ่งที่เหลือจากการเกษตรทั้งสิ้นทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมีที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ และผู้บริโภค นอกจากนี้ในการเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ของเกษตรกร เพื่อนำไปใช้ประกอบอาหารในครัวเรือนแล้วส่วนที่เหลือสามารถนำมาขายเป็นอาชีพเสริมอีกอย่างหนึ่ง วช. รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ผลผลิตงานวิจัยของ วช. เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความเดือนร้อนของเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย โครงการนี้จึงเป็นอีกโครงการหนึ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ว่างานวิจัยไม่ได้มีไว้บนหิ้ง แต่งานวิจัยสามารถนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นรูปธรรมเห็นผลได้ ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกัน ทั้งนี้ วช. ได้รับความร่วมมือจากการเผยแพร่ความรู้จากนักวิจัย และชาวบ้านผู้นำองค์ความรู้มาลงมือปฏิบัติได้อย่างเห็นผล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ