กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--ซีพีเอฟ
นายดำริห์ แสงสินธุ์ชัย รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ในธุรกิจสุกรของซีพีเอฟจะถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกรด้วยการส่งสัตวบาลเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงและร่วมดูแลการเลี้ยงสัตว์ในแต่ละฟาร์มอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้การผลิตลูกสุกรเป็นไปตามเป้าหมาย แต่ขณะเดียวกันก็พบว่าเกษตรกรแต่ละครอบครัวมีประสิทธิภาพการผลิตที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดการสร้าง “ศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงสุกรพันธุ์และสุกรขุนซีพีเอฟ” ขึ้นเพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้จากเกษตรกรที่มีประสบการณ์และทักษะที่ดีด้วยกัน และมีโอกาสได้เพิ่มเติมความรู้จากบริษัทไปพร้อมกัน
“เดิมเกษตรกรแต่ละครอบครัวมีผลการเลี้ยงที่แตกต่างกันมาก เช่น บางครอบครัวผลิตลูกสุกรได้ 28 ตัว/แม่/ปี ขณะที่อีกครอบครัวหนึ่งทำได้เพียง 18 ตัว/แม่/ปี ทำให้ค่าเฉลี่ยผลผลิตทั้งภาคอีสานในช่วงนั้นอยู่ที่ 21 ตัว/แม่/ปี แต่เมื่อมีการถ่ายทอดความรู้ เทคนิควิธีการเลี้ยงโดยเกษตรกรด้วยกัน เพียงปีเดียวก็พบว่าค่าเฉลี่ยผลผลิตทั้งภาคสูงขึ้นเป็น 24 ตัว/แม่/ปี ซึ่งเป็นการช่วยให้เกษตรกรมีประสิทธิภาพการเลี้ยงและรายได้ที่ดีขึ้นมาก นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี” นายดำริห์กล่าว
ศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงสุกรพันธุ์และสุกรขุนซีพีเอฟ ตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2548 ณ จังหวัดนครราชสีมา โดยเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกเกษตรกรตัวอย่างที่สามารถผลิตลูกสุกรได้อย่างมีประสิทธิภาพมาให้คำแนะนำ สาธิต และสอนเทคนิคการเลี้ยงสุกรแก่เพื่อนเกษตรกรด้วยกัน โดยจัดเป็นกลุ่มย่อยและใช้ฟาร์มของเกษตรกรตัวอย่างเป็นแหล่งรวมกลุ่ม ทั้งนี้ บริษัทจะสร้างห้องประชุมให้เป็นสินทรัพย์แก่เกษตรกร จากนั้นบริษัทจะดำเนินการจัดหลักสูตรเรียนรู้และจัดกลุ่มเกษตรกรเข้าศึกษาดูงานในสัดส่วน 1 ศูนย์ต่อเกษตรกร 10 คน และยืดหยุ่นได้ หากกรณีบางช่วงต้องการความเข้มงวดในการป้องกันโรคสุกรเป็นพิเศษก็จะงดการเข้าฟาร์ม เป็นต้น
ปัจจุบัน ซีพีเอฟขยายศูนย์เรียนรู้ฯนี้ได้แล้ว 16 จุด ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีโครงการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยเลี้ยงสุกรพันธุ์และสุกรขุนของบริษัท สามารถสร้างให้เกษตรกรแต่ละคนมีความรู้และเทคนิควิธีการการเลี้ยงสัตว์ได้ใกล้เคียงหรือเทียบเท่าสัตวบาล นับเป็นส่วนหนึ่งของการตอบแทนสังคมด้านการแบ่งปันความรู้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตอันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยในอนาคต ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินโครงการเพื่อสังคมด้านการถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างงานสร้างอาชีพแก่เกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรายย่อยได้อย่างเป็นรูปธรรม
ด้านสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ CPF
โทร. 02-625-7343-5 , 02-631-0641, 02-638-2713