กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--สพฉ.
สพฉ. จัดแข่งขัน EMS RALLY ระดับประเทศครั้งที่ 1 ฝึกปฎิบัติพัฒนาทักษะผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน รับมือผู้ใช้บริการสายด่วน 1669 คาดยอดผู้ใช้บริการเพิ่มอย่างก้าวกระโดดเป็น 1.9 ล้านครั้ง ในปี 2555 ชี้หากมีระบบปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพ จะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินได้เพิ่ม 9,000 — 12,000 คนต่อปี
นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวในงานจัดการแข่งขัน EMS Rally ระดับชาติ ครั้งที่ 1 ปฏิบัติการพัฒนาทักษะของบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ที่สนามกีฬากระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี ว่า การแข่งขันปฏิบัติกู้ชีพ Emergency Medical Services RALLY “EMS RALLY” ระดับชาติ ครั้งที่ 1 ถือเป็นการเตรียมพร้อมในการปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และฝึกปฏิบัติการกู้ชีพ เพื่อเพิ่มทักษะการช่วยเหลือผู้ป่วยในสถานการณ์ต่างๆ ให้เกิดความชำนาญ ถูกต้องตามมาตรฐานสากล
การแข่งขันเป็น 2 ระดับ คือ ชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูง (ALS) และชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น (FR) จากเขตต่างๆ ทั่วประเทศ และ กทม. ที่ผ่านการคัดเลือกได้เข้ามาแข่งขัน โดยสมมติเหตุการณ์ที่จำลองขึ้นมาให้เหมือนสถานการณ์จริง เพื่อให้ทีมกู้ชีพได้แสดงความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลการสั่งการ การประเมินและควบคุมสถานการณ์ การให้คำแนะนำผู้ที่อยู่ ณ จุดเกิดเหตุ การประเมินสภาพผู้ป่วยฉุกเฉิน การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ การยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การสื่อสาร และการทำงานเป็นทีม โดยใช้หลักการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลตามมาตรฐานระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทย สำหรับกฎกติกาที่ใช้ในการแข่งขัน กำหนดขึ้นจากการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการแข่งขัน EMS (EMS Competition) จากประเทศต่างๆ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ อิสราเอล ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ สเปน สาธารณรัฐเชก มาเลเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง รวมทั้งได้รวบรวมและวิเคราะห์ประสบการณ์ในการจัดการแข่งขัน EMS Rally ในประเทศไทย นำมาเป็นกฎกติกาที่ใช้ในการแข่งขัน EMS Rally ครั้งนี้
“การฝึกปฏิบัติการกู้ชีพจะนำไปสู่การปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินที่มีคุณภาพ อีกทั้งทำให้ทีมกู้ชีพได้เรียนรู้ในการออกปฏิบัติการท่ามกลางสภาวะการกดดันทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิประเทศที่ยากลำบาก สภาพภูมิอากาศที่บางครั้งอาจจะไม่เอื้ออำนวย ท่ามกลางฝูงชนมากมาย หรือในสถานการณ์ภัยพิบัติ ผู้ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน จำเป็นต้องปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง เพราะเราไม่รู้ว่า เวลาใด สถานการณ์ใด จะมีผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินบ้าง ดังนั้นจึงต้องตื่นตัวและเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา EMS Rally จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยพัฒนาให้บุคลากร โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่มีภาระหน้าที่สำคัญ ที่ต้องรับผิดชอบชีวิตคน” นพ.ชาตรี กล่าว
นพ.ชาตรี กล่าวต่อว่า การฝึกปฏิบัติเพื่อพัฒนาทักษะของบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะหากผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ถูกวิธี และทันเวลาแล้ว อาจทำให้เกิดการสูญเสียอวัยวะหรือเกิดความบกพร่องในการทำงานของอวัยวะได้ ดังนั้นหากมีระบบปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมจะสามารถรักษาชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินเหล่านี้ได้ประมาณปีละ 9,000 — 12,000 คนต่อปี อีกทั้งสถิติของผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าในปี 2554 จะมีผู้ใช้บริการสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉินเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 ล้านครั้ง และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.99 ล้านครั้งในปี 2555
นอกจากนี้ ในระหว่างวันที่ 7 — 9 มีนาคม นี้ ทาง สพฉ. จะจัดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2554 ที่โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าถึงบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยจะเน้นพัฒนาทั้งในเรื่องคุณภาพการปฏิบัติงานทางการแพทย์ฉุกเฉิน การพัฒนาบุคลากรผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ฉุกเฉินให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการประชุม ครั้งนี้ ได้เชิญบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ จำนวน 1,200 คน มาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียน ประสบการณ์ของสหวิชาชีพ และเป็นการสร้างเครือข่ายใหม่ๆในภาคีเครือข่าย โดยมีการเสนอแนวทางการทำงานในระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่เป็นแบบอย่างแก่พื้นที่อื่นๆ พร้อมการสร้างระดับความตื่นตัวของสังคมไทยในการจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้ครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นฉุกเฉินให้เกิดน้อยที่สุด และให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินที่ได้มาตรฐานจนพ้นภาวะฉุกเฉินหรือได้รับการบำบัดรักษาอย่างทันท่วงที ทั่วถึงและเท่าเทียม ทั้งในภาวะปกติและภัยพิบัติ