กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1,500 ล้านบาทของ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหุ้นกู้ชุดใหม่บางส่วนไปชำระหนี้ที่มีอยู่เดิมกับสถาบันการเงินและ/หรือจะนำบางส่วนไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน อันดับเครดิตสะท้อนถึงความหลากหลายของธุรกิจที่มีแบรนด์สินค้าและบริการเป็นที่ยอมรับซึ่งช่วยเสริมให้บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งทั้งในธุรกิจโรงแรม ธุรกิจอาหารบริการด่วน และธุรกิจจัดจำหน่ายและรับจ้างผลิตสินค้า นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงการมีคณะผู้บริหารที่มีความสามารถ การเติบโตของธุรกิจโรงแรมและการบริหารโรงแรมในต่างประเทศ และโอกาสในการขยายธุรกิจอาหารบริการด่วนและให้บริการผ่านแฟรนไชส์ทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อธุรกิจอันเนื่องมาจากความไม่มีเสถียรภาพของการเมืองภายในประเทศ รวมทั้งจากลักษณะของธุรกิจโรงแรมที่ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกได้ง่าย ตลอดจนลักษณะการแข่งขันที่รุนแรงและอัตรากำไรที่ต่ำของธุรกิจอาหารบริการด่วนและธุรกิจจัดจำหน่าย
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาความแข็งแกร่งของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเอาไว้ได้ ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนในการดำเนินธุรกิจ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะดำรงสภาพคล่องให้เพียงพอต่อการดำเนินงานและลงทุนในโครงการปัจจุบันด้วยกระแสเงินสดบางส่วน การที่บริษัทมีนโยบายในการเติบโตทั้งตามภาวะปกติของธุรกิจและโดยการซื้อกิจการจะเป็นปัจจัยกำหนดระดับภาระหนี้ของบริษัท ทั้งนี้ หากภาระหนี้สินของบริษัทเพิ่มอย่างต่อเนื่องและคงอยู่ในระดับสูงก็อาจส่งผลกระทบต่อสถานะเครดิตโดยรวมของบริษัทมากขึ้น
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลก่อตั้งโดย Mr. William Ellwood Heinecke ในปี 2521 เพื่อดำเนินธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย ตระกูล Heinecke เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 33% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัทมีการขยายกิจการโรงแรมอย่างต่อเนื่องจนถือได้ว่าเป็นผู้ประกอบการที่มีโรงแรมกระจายตัวมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยมีโรงแรมในกลุ่มทั้งหมด 33 แห่ง ด้วยจำนวนห้องพักรวมทั้งสิ้น 4,114 ห้อง ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำทั้งในประเทศไทย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ ศรีลังกา แทนซาเนีย เคนยา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม โรงแรมเหล่านี้บริหารและดำเนินงานภายใต้เครือโรงแรมที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก เช่น Mariott และ Four Seasons และภายใต้เครือโรงแรมของบริษัทเองคือ Anantara, Elewana และ Naladhu ธุรกิจอาหารบริการด่วนของกลุ่มไมเนอร์ดำเนินการภายใต้การบริหารงานของบริษัทในเครือคือ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (MFG) ซึ่งก่อตั้งในปี 2523 และเป็นผู้ให้บริการธุรกิจอาหารบริการด่วนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย MFG เป็นเจ้าของและผู้ประกอบการอาหารบริการด่วนแบบแฟรนไชส์ของต่างประเทศมากถึง 4 แบรนด์ ได้แก่ “สเวนเซ่นส์” “ซิซซ์เล่อร์” “แดรี่ ควีน” และ “เบอร์เกอร์ คิง” รวมทั้งยังบริหาร “เดอะ พิซซ่า คอมปะนี” “เดอะค็อฟฟีคลับ” และ “ไทยเอ็กเพรส” ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าของบริษัทเองด้วย โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 MFG มีร้านอาหารเปิดให้บริการรวม 685 แห่ง ตลอดจนร้านแฟรนไชส์และแฟรนไชส์ย่อยอีกประมาณ 463 แห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในช่วงกลางปี 2552 บริษัทได้ปรับโครงสร้างธุรกิจและรวมกิจการของ บริษัท ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (MINOR) ซึ่งประกอบด้วย แฟชั่น เครื่องสำอาง และโรงงานรับจ้างผลิตสินค้าเข้ามาอยู่ภายใต้เครือของบริษัท โดยมีแบรนด์สินค้าที่สำคัญ อาทิ Gap, Esprit, Bossini, Red Earth, Bloom และ Tumi
ในปี 2553 บริษัทมีรายได้ (ไม่รวมเงินปันผลและรายได้อื่น ๆ) 18,140 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการรวมรายได้ของ MINOR เข้ามาทั้งปี และธุรกิจอาหารบริการด่วนมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งชดเชยการลดลงของรายได้จากธุรกิจโรงแรม ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 216 ล้านบาทซึ่งมาจากการขายคอนโดมิเนียมโครงการ St. Regis Residence จำนวน 1 ยูนิต รวมทั้งรายได้บางส่วนจากโครงการพักผ่อนแบบปันส่วนเวลาของกลุ่มอนันตรา (Anantara Vacation Club) ในปี 2553 บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลงมาอยู่ที่ 15.3% เทียบกับ 18.1% ในปี 2552 ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของกำไรในธุรกิจโรงแรม ในปี 2553 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างมากจากความไม่สงบของการเมืองภายในประเทศในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ซึ่งมีผลทำให้นักท่องเที่ยวทั้งต่างประเทศและในประเทศลดลง ส่งผลให้อุปสงค์การท่องเที่ยวลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับบน แม้ว่าความวุ่นวายทางการเมืองจะยุติลงในเดือนพฤษภาคม 2553 แต่พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานครยังคงบังคับใช้อย่างต่อเนื่องเพราะยังมีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลเป็นระยะ ๆ จนในปลายเดือนธันวาคม 2553 จึงยกเลิกไปในที่สุด
ในบรรดาโรงแรมของบริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลทั้งหมด ทริสเรทติ้งกล่าวว่าโรงแรมในเขตกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองมากที่สุด โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยลดลงมาอยู่ที่ 51% เปรียบเทียบกับ 56% ในปีก่อน อัตราค่าห้องพักเฉลี่ยต่อคืนลดลง 6% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 4,148 บาท อย่างไรก็ตาม โรงแรมอื่น ๆ ของบริษัทยังมีผลประกอบการอยู่ในระดับที่น่าพอใจ อัตราการเข้าพักรวมของโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของในปี 2553 อยู่ที่ 56.2% เพิ่มขึ้น 0.37% จากปีก่อน อัตราค่าห้องพักเฉลี่ยต่อคืนลดลงจากปีก่อนเล็กน้อยที่ระดับ 3% มาอยู่ที่ 4,852 บาทจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง ซึ่งส่งผลทำให้รายได้ต่อห้องพักของโรงแรมในกลุ่มลดลง 2.6% จากปีก่อน โดยอยู่ที่ 2,727 บาทต่อคืน อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของธุรกิจโรงแรมในปี 2553 อยู่ที่ 27% ลดลงจาก 31% ในปีก่อน ทั้งนี้ เนื่องมาจากรายได้ที่ลดลงและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มขึ้นจากการบันทึกค่าใช้จ่ายก่อนการดำเนินงานของโรงแรมใหม่ 2 แห่ง (St. Regis ที่กรุงเทพฯ และ Anantara Kihavah ที่มัลดีฟส์) และโครงการ Anantara Vacation Club เป็นสำคัญ สำหรับธุรกิจอาหารบริการด่วนนั้น ผลการดำเนินงานอยู่ในระดับที่ดี โดยรายได้เติบโต 4.2% มาอยู่ที่ 9,883 ล้านบาท และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 1% มาอยู่ที่ 17% ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของยอดขายต่อร้าน โดยเฉพาะแดรี่ควีนและเดอะพิสซ่าคอมปานี ในส่วนของธุรกิจค้าปลีกก็มีการเติบโตตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจเช่นกัน
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 ภาระหนี้หลังการปรับปรุง (รวมสัญญาเช่าดำเนินงานและภาระผูกพันที่มีต่อบริษัทที่เกี่ยวข้อง)
ของบริษัทอยู่ที่ 16,008 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,867 ล้านบาทจาก ณ สิ้นปี 2552 โดยภาระหนี้ที่สูงขึ้นนั้นส่วนหนึ่งเพื่อการก่อสร้างโรงแรมและการลงทุน โดยบริษัทใช้เงินลงทุนไป 5,298 ล้านบาทในปี 2553 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างโรงแรม St. Regis และโรงแรม Anantara Kihavah บริษัทคาดว่าค่าใช้จ่ายในการลงทุนในปี 2554 จะอยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งได้วางแผนไว้ว่าจะใช้แหล่งเงินทุนจากรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทอยู่ที่ 53.69% เพิ่มขึ้นจาก 52.16% ในเดือนธันวาคม 2552 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับที่รับได้ที่ 7.3 เท่า ทริสเรทติ้งกล่าว
บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (MINT)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
MINT11OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2554 คงเดิมที่ A
MINT129A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,840 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ A
MINT137A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ A
MINT149A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,060 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 คงเดิมที่ A
MINT155A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 คงเดิมที่ A
MINT15DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 คงเดิมที่ A
MINT17DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 คงเดิมที่ A
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2561 A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)