PYLON เดินหน้าขยายฐานงานแนวราบ พร้อมลุยทั้งรัฐ/เอกชนตุนงานในมือแล้ว 1,000 ลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 8, 2011 17:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--IR PLUS PYLON เดินหน้าขยายฐานงานแนวราบเพิ่ม หลังพบมีศักยภาพการรับงานสูง จากความพร้อมด้านเครื่องมือ บุคลากร เทคโนโลยี และฐานะการเงินแกร่ง หวังปลุกปั้นเติบโตควบคู่กับงานฐานราก ล่าสุดคว้างานปรับปรุงสถานีสูบน้ำและสร้างเขื่อน ค.ส.ล.คลองเลนเปน มูลค่า 320 ลบ.หนุน Backlog เฉพาะงานแนวราบทะลุ 500 ลบ. แล้วจากงาน 5 โครงการส่งผลให้ Backlog รวมงานฐานรากทะลุ 1,000 ลบ. สำเร็จ “ บดินทร์ แสงอารยะ-กุล” มั่นใจปีนี้ปั๊มรายได้ถึง 20% ของรายได้รวม PYLON ที่วางไว้ 1,000 ลบ. นายบดินทร์ แสงอารยะกุล กรรมการรองผู้จัดการ บริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) หรือ PYLON กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯ กำลังเดินหน้าขยายงานรับเหมาก่อสร้างประเภทแนวราบเพิ่มขึ้น จากเดิมที่งานรับเหมาส่วนใหญ่ของบริษัทฯ เป็นงานฐานราก หรืองานเสาเข็มเจาะ หลังจากพบว่ามีงานใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดมากขึ้น และบริษัทฯ มีความพร้อมเป็นอย่างมากในการรับงานดังกล่าวทั้งด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ บุคลากรผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยีในการก่อสร้างและฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าได้รับการตอบรับจากเจ้าของโครงการเป็นอย่างดี โดยได้รับงานประมูลเข้ามาแล้วประมาณ 4-5 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 450-500 ล้านบาท โดยล่าสุดบริษัทฯ ได้รับการยืนยันการจ้างงานก่อสร้างโครงการต่างๆ เพิ่มเติม จำนวน 1 โครงการ รวมเป็นเงิน 320 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ได้แก่ โครงการ งานปรับปรุงระบบระบายน้ำด้านใต้คลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย (ปรับปรุงสถานีสูบน้ำและก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองเลนเปน) โดยมีผู้ว่าจ้างคือ สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร มีระยะเวลาก่อสร้าง 720 วัน “งานแนวราบเป็นงานที่เราตั้งใจจะขยายเพิ่มขึ้นในปีนี้เพิ่มเติมจากงานฐานรากที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน เพราะเรามีเครื่องไม้เครื่องมือบางส่วนที่สามารถใช้ในงานแนวราบได้ มีความพร้อมทั้งเรื่องคน และเทคโนโลยี ที่สำคัญเราถือเป็นบริษัทฯ ที่มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง ที่ผ่านมาจึงทำสามารถแข่งขันรับงานกับคู่แข่งได้อย่างคล่องตัว ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากเจ้าของโครงการ ได้รับงานประมูลมาแล้วมูลค่ารวมประมาณ 450-500 ลบ. และเชื่อว่าหลังจากนี้จะเริ่มมีงานอื่นๆ ไหลเข้าตลาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะงานจากภาครัฐ ซึ่งบริษัทฯ จะเข้าร่วมประมูลงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้ธุรกิจรับเหมาแนวราบเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดย ปัจจุบันงานแนวราบของบริษัทฯ มีสัดส่วนประมาณ 10-15% ของรายได้รวม และเชื่อว่าในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 20% ของรายได้รวม ส่วนในอนาคต หากลูกค้าเพิ่มมากขึ้น โอกาสที่จะขยายสัดส่วนรายได้ให้เพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับรับเหมาฐานรากก็มีโอกาสเป็นไปได้ แต่คงต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง” นายบดินทร์ กล่าวต่อถึงแนวโน้มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานฐานราก (เสาเข็มเจาะ) ว่า ปัจจุบันยังมีทิศทางการเติบโตอย่างโดดเด่น เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากงานก่อสร้างโครงการใหม่ๆ ทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชน โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจ็กต่างๆ โดยผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2554 ของบริษัทฯ คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีกว่าผลประกอบการในไตรมาส 4 ปี 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไตรมาสที่มีกำไรดีที่สุดของปี 2553 เนื่องจากมีโอกาสรับงานก่อสร้างใหม่ๆ หลายโครงการ รวมถึงทยอยรับรู้รายได้จากงานในมือ (Backlog) อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันบริษัทมี Backlog ที่รอรับรู้เป็นรายได้ทั้งงานฐานรากและงานแนวราบประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายรายได้ในปีนี้กำหนดไว้ที่ 1,000 ล้านบาท โดยจะพยายามรักษาการรับงานภาครัฐ ในสัดส่วนร้อยละ 50 และภาคเอกชนสัดส่วนร้อยละ50 หลังจากมีงานภาครัฐเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในไตรมาส 2 ปี 2554 จากปัจจุบันที่สัดส่วนการรับงานภาคเอกชนอยู่ที่ร้อยละ 60 และงานภาครัฐร้อยละ 40 ข้อมูลบริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) บริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) (PYLON) ดำเนินธุรกิจเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างงานฐานรากงาน แบ่งออกเป็น 3 สายงานหลัก ดังนี้ คือ 1. งานเสาเข็มเจาะ (Bored Pile) เสาเข็มเจาะเป็นเสาเข็มที่นิยมใช้กับการก่อสร้างฐานรากของโครงสร้างขนาดใหญ่ และโครงสร้างอาคารในบริเวณที่มีพื้นที่จำกัด นอกจากนี้เสาเข็มเจาะยังลดมลภาวะเรื่องเสียงและแรงสั่นสะเทือนเมื่อเทียบกับการใช้เสาเข็มตอกการก่อสร้างเสาเข็มเจาะนั้นสามารถปรับเปลี่ยนขนาดได้ จากขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 50 เซนติเมตร จนถึงมากกว่า 1 เมตรขึ้นไป และทำได้ถึงความลึกมากกว่า 60 เมตร ขึ้น อยู่กับการออกแบบกำลังรับน้ำหนักของเสาเข็มโดยวิศวกร และสภาพชั้นดินในแต่ละพื้นที่ 2. งานปรับปรุงคุณภาพดิน (Ground Improvement) มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มเสถียรภาพให้กับโครงสร้างของดินเดิม ทำให้ดินมีกำลังรับน้ำหนักมากขึ้นและป้องกันการเคลื่อนตัวของดิน โดยบริษัทมีการให้บริการงานประเภทนี้โดยวิธีการอัดฉีดซีเมนต์ด้วยแรงดันสูง (Jet Grouting) ที่ความดันประมาณ 200 ถึง 400 บาร์ และ 3.งานก่อสร้างกำแพงกันดินชนิดไดอะแฟรม (Diaphragm Wall) กำแพงกันดินชนิดไดอะแฟรมเป็นการก่อสร้างกำแพงโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นโครงสร้างรับน้ำหนักและป้องกันการเคลื่อนตัวของดินทางด้านข้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เพื่อเป็นโครงสร้างของชั้นจอดรถใต้ดิน กำแพงอาคารผู้โดยสารสำหรับระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน และอุโมงค์ลอดทางแยก เป็นต้น ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : IR PLUS : คุณจุฬารัตน์ เจริญภักดี (ฟ้า) Tel.02-5549395 E-mail : jurarat@irplus.in.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ