กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--สสวท.
ศ. ดร.สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แจ้งว่า ผู้แทนประเทศไทยเดินทางไปแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ วันที่ 15-24 กรกฎาคม 2550 ณ กรุงมอสโคว ประเทศรัสเซีย เที่ยวบินวันเดินทางไป TG 974 วันที่ 13 ก.ค. 2550 เวลา 10.25 น.โดยผู้แทนประเทศไทยจำนวน 4 คน ได้แก่ นายเตชินท์ จุลเทศ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา นายธนธรณ์ ขอทวีวัฒนา โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ นายบวร หงษ์ศรีจินดา โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก นายพรชัย แก้วทรัพย์ศักดิ์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
คณะอาจารย์ที่ร่วมเดินทาง ประกอบด้วย หัวหน้าทีม รศ. ดร. วุฒิชัย พาราสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รองหัวหน้าทีม ผศ. ดร. ยงศักดิ์ ศรีธนาอนันต์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ช่วยหัวหน้าทีม ดร. อมราวรรณ อินทศิริ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ. ดร. เอกสิทธิ์ สมสุข มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้จัดการทีม นายณรงค์ศิลป์ ธูปพนม สสวท.
นายเตชินท์ จุลเทศ (เติ้ง) เล่าว่า ในด้านเคมี ชอบทฤษฎีมากกว่าและทำได้ดี พอรู้ว่าได้เป็นผู้แทนประเทศไทยดีใจมากถึงกับหลั่งน้ำตา ก่อนไปแข่งเคมีโอลิมปิกคิดว่าในส่วนของทฤษฎีผมพร้อมแล้ว แต่ก่อนเดินทางก็พยายามเพิ่มเติมความรู้ภาคปฏิบัติสะสมไว้ก่อนเรื่อย ๆ
นายธนธรณ์ ขอทวีวัฒนา (พลัม) มองว่าเคมีเป็นศาสตร์ที่น่าหลงไหลและมีเสน่ห์มาก ๆ และชอบการทำแลปเคมี เพราะต้องอาศัยทั้งความประณีต การวางแผน การคิดอย่างมีเหตุผลและศิลปะ คุณพ่อเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ชอบเคมี เพราะเป็นอาจารย์สอนคณะอุตสาหกรรมเกษตร ม. เกษตรศาสตร์ ซึ่งต้องใช้ความรู้ทางเคมีอินทรีย์อย่างมาก จึงได้มีโอกาสอ่านหนังสือของคุณพ่อและสนใจวิชาเคมี “การแข่งครั้งนี้ตั้งเป้าว่าจะพยายามให้เต็มที่ สิ่งที่ได้รับถ้าไม่ได้ตามที่คาดหวังไว้ก็จะไม่เสียใจ เพราะได้ทำเต็มความสามารถแล้ว”
นายบวร หงษ์ศรีจินดา (บ๊วย) ชอบการทำแลป เพราะเป็นเหมือนศิลปะที่ต้องใช้ความปราณีตอย่างสูงในการทดลอง “การแข่งครั้งนี้ผมจะต้องคว้าเหรียญใดเหรียญหนึ่งติดมือมาให้ได้ครับ จริง ๆ แล้วตั้งใจคว้าเหรียญเงิน แต่ถ้าเป็นไปได้ก็เหรียญทอง ค่อนข้างมั่นใจ เพราะพยายามเต็มที่แล้ว”
นายพรชัย แก้วทรัพย์ศักดิ์ (ชัย) เล่าว่า การเตรียมตัวก่อนไปแข่งนั้น สสวท. ได้จัดค่ายอบรมเพิ่มเติมให้อยู่แล้ว นอกจากนั้นก็ยังมีการอ่านหนังสือทบทวนเนื้อหาที่ได้เรียนมาตั้งแต่แรก รวมทั้งศึกษาแนวโจทย์ที่ประเทศเจ้าภาพส่งมาให้ ผมคิดว่าผมพร้อมที่สุดเท่าที่จะทำได้ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ