ชุมชนสร้างสวัสดิการของตัวเองได้...ไม่แบมือง้อรัฐ

ข่าวทั่วไป Wednesday March 9, 2011 14:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย เพราะระบบเศรษฐกิจเปลี่ยน สังคมและชุมชนก็เคลื่อนองศาพยพเปลี่ยนตาม จากเดิมที่เราคนไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม ก็กลายเป็นสังคมอุตสาหกรรม เคยอยู่กันเป็นหมู่บ้านก็กลายเป็นคอนโดมิเนียม ความเป็นชุมชนแบบไทยเลือนหาย การพึ่งตนเองและการพึ่งพาอาศัยกันลดลง ชุมชนไร้บทบาทและไม่มีความสามารถในการช่วยคนในชุมชนด้วยกัน สวัสดิการของครัวเรือนและผู้คนในชุมชนกลายเป็นบทบาทของรัฐผ่านหน่วยงานรัฐ หน่วยงานอาสาสมัคร และภาคเอกชน ในรูปแบบการสงเคราะห์ ที่เรียกว่า “สวัสดิการสังคม” จากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 คนงานภาคอุตสาหกรรมกลับคืนภาคเกษตรกรรม ชุมชนจำนวนหนึ่งได้เรียนรู้เรื่องสวัสดิการ (สวัสดิการดูแลคนในชุมชนเหมือนสวัสดิการในระบบราชการ) ซึ่งพบว่ายังมีชุมชนหลายแห่งมีความสามารถที่จะดูแลช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบเศรษฐกิจในเมืองและกลับชนบท โดยผ่านระบบกองทุนออมทรัพย์ เงินที่ได้การจัดสรรจากรายได้และกำไรของกิจกรรมการพัฒนาชุมชนต่างๆ เป็นจุดก่อตัวของความคิดและขบวนการ “สวัสดิการชุมชน” มีการรวมตัวของชุมชนและองค์กรท้องถิ่น ตั้งเป็นกองทุน คิดค้นฟื้นฟูบทบาทของชุมชนในการจัดสวัสดิการพื้นฐานให้กับตนเองและครอบครัวในชุมชน มีการรวมตัวกันอย่างเป็นขบวนการทั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน มีชุมชนท้องถิ่นที่มีบทบาทในการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกและครอบครัวแล้ว(ที่มีข้อมูล) 3,443 กองทุน (ระดับตำบล) จำนวนหมู่บ้าน/ชุมชนเข้าร่วม 26,549 หมู่บ้าน สมาชิก 1,446,262 ราย มีเงินกองทุนของชุมชนเอง 790.73 ล้านบาท และเงินที่สมทบจากภายนอก 167.03 ล้านบาท ผู้นำที่อาสาสมัครเข้ามาบริหารกองทุนหลายหมื่นคน (ข้อมูลจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) ในการประชุมวิชาการครอบครัวศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2554 ซึ่งจัดโดยสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย และ 15 องค์กรภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ร่วมกับภาคีเครือข่ายนักวิชาการ คนทำงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และแผนงานสุขภาวะครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส. ) เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในห้องสัมมนาย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ของตัวแทนชุมชนในการจัดสวัสดิการสังคมที่ประสบความสำเร็จ เช่น ชุมชนบางซื่อ กทม. ชุมชนตำบลบางโปรง จ.สมุทรปราการ และเทศตำบลรางหวาย จ.กาญจนบุรี ซึ่งล้วนแต่เอาความต้องการของคนในชุมชนเป็นตัวตั้ง เราได้พบวิธีการบริหารจัดการในการสร้างสวัสดิการชุมชน โดยคนในชุมชน เพื่อคนในชุมชนที่ประสบความสำเร็จ เขามีวิธีทำกันอย่างไร ติดตามกันได้ กองทุนวันละบาทของชุมชนบางซื่อ : เงินไม่ใช่เป้าหมายของกองทุน คุณทวาย คงคา ตัวแทนจากชุมชนบางซื่อ ซึ่งเป็นชุมชนของคนระดับหาเช้ากินค่ำ ทำให้ขาดสวัสดิการที่จำเป็นแก่ตนเองและครอบครัว การตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนวันละ 1 บาท เมื่อปี 2548 เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทุกคนในชุมชนรู้สึกถึงความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต “ เราให้สวัสดิการกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เกิดให้เงินช่วย แก่ให้เงินบำนาญ เจ็บช่วยค่ารักษาพยาบาล ตายให้เงินสงเคราะห์ แต่ต้องสมัครเป็นสมาชิกและจ่ายเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท เดือนละ 30 บาท ปีละ 360 บาท อย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันเรามีเงินในกองทุนล้านกว่าบาท เราไม่ได้มองที่ตัวเงิน แม้เราจะช่วยเงินแต่ละครอบครัวไม่มากนัก แต่การได้รู้ข้อมูลความเป็นไปของแต่ละครัวเรือนต่างหาก ที่ทำให้ชุมชนเรามีความใกล้ชิดกัน เยี่ยมเยือนลูกที่เกิดใหม่บ้านนั้น ไปเยี่ยมคนป่วยบ้านนี้ และไปร่วมงานบุญของบ้านโน้น เป็นความอบอุ่นที่ได้มาพร้อมกับสวัสดิการในชุมชน กองทุนที่ตั้งที่เป็นแค่เครื่องมือสานความสัมพันธ์ และสร้างความมั่งคงภายให้เกิดขึ้น ไม่ใช่มั่งคั่งดังความคิดเดิมๆ ” ศูนย์พัฒนาครอบครัวชุมชนตำบลบางโปรง : รักษาสิ่งแวดล้อม เพาะบ่มจิตใจเยาวชน คุณกนกวรรณ นาคจู ตัวแทนของชุมชนตำบลบางโปรง จ.สมุทรปราการ เป็นชุมชนที่ดูแล 3,428 ครอบครัว 9,431 คน มีโรงงานอุตสาหกรรม 19 แห่ง โรงผลิตไฟฟ้า 1 แห่ง อาชีพของประชากรในอดีตคือชาวสวน แต่ปัจจุบันคือพนักงานบริษัท พนักงานของรัฐ และค้าขาย ปัญหาของชุมชนนอกจากเป็นปัญหาด้านมลภาวะ สิ่งแวดล้อม ด้านสังคมก็พบว่าวิถีชีวิตของเยาวชนของเรากลายเป็นชุมชนเมือง เด็กวัยรุ่นติดเกม ไม่สนใจเรียน ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ติดของแบรนด์เนม คนแก่อยู่บ้านอย่างเดียวดาย ครอบครัวแตกแยก ทุกคนในชุมชนเมินเฉยต่อปัญหาส่วนรวม ทิ้งให้รัฐเป็นผู้แก้ไขโดยไม่คิดจะช่วยเหลือตนเอง แต่เมื่อศูนย์พัฒนาครอบครัวตำบลบางโปรงก่อตั้งขึ้นในปี 2548 ก็เริ่มต้นในการชักชวนครอบครัวแต่ละครัวเรือนเข้าอบรมและเรียนรู้ในการดูแลชุมชนร่วมกัน ให้พ่อแม่ลูกได้มีกิจกรรม มีโครงการพาลูก จูงหลานเข้าวัด จัดค่ายธรรมะ ดูแลทุกกลุ่มในชุมชน ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ วัยรุ่น-เยาวชน ทำให้ชุมชนเข้มแข็งด้วยพลัง+ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของคนในชุมชน สวัสดิการชุมชนที่ดี : ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี นายสิน สื่อสวน ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) ให้ข้อแนะนำว่า สวัสดิการชุมชน คือ การสร้างหลักประกันเพื่อความมั่นคงของคนในชุมชน อาจเป็นรูปของเงิน น้ำใจ ความช่วยเหลือเกื้อกูลที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย หัวใจของการจัดสวัสดิการชุมชน คือ ให้อย่างมีคุณค่า และรับอย่างมีศักดิ์ศรี หลักการจัดตั้งสวัสดิการชุมชนอยู่ที่ความต้องการขั้นพื้นฐานของคนในชุมชนจริงๆ ไม่ใช่ไปลอกจากคนอื่นมา หากชุมชนใดอยากทำขอให้เริ่มจากงานเล็ก ๆ ไปหางานใหญ่ สำคัญที่สุดคือ “เงินสวัสดิการ” ไม่ใช่เป้าหมายแต่เป็นเครื่องมือ ใช้เงินสร้างเงื่อนไขในการทำให้คนอยากทำความดี ให้เงินตามความจำเป็นและพอดี และสวัสดิการที่ดีต้องช่วยเหลือทุกคนไม่แบ่งแยก ไม่มุ่งแต่คนยากจนหรือด้อยโอกาส แต่ทุกคนในชุมชนสามารถเข้าถึงและใช้สวัสดิการได้เท่าเทียมกัน สามารถเป็นคนให้ให้และเป็นคนที่ได้รับ สวัสดิการชุมชนจะสามารถเชื่อมโยงคนในชุมชนเข้าหากัน ผลของการจัดสวัสดิการชุมชนอย่างมีศักดิ์ศรี คือ การเกิดความสัมพันธ์ที่ดีของคนในชุมชน การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความรู้สึกมั่นคง ภาคภูมิใจ อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และมีความสุขทั้งกายและทางจิตใจ สวัสดิการชุมชน คุณสร้างเองได้ไม่ต้องแบมือง้อใคร....แต่หากต้องการคำแนะนำหรือศึกษาตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ สามารถติดต่อสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย โทร. 0-2954-2346

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ