กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--สสวท.
ตามไปดูนายกฯ สุรยุทธ์นำทีมเด็กๆ ร.ร.อัครศาสน์วิทยา จ.นราธิวาส สนุกกับวิทย์ตามแนว สสวท. จากโรงเรียนปอเนาะอัตตารบียะ มาเป็นโรงเรียนต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ชุมชน สานใจไทย สู่ใจใต้....หนึ่งในความห่วงใยต่อการเรียนรู้ของเด็กไทยจังหวัดชายแดนใต้
เด็กไทย ไม่ว่าจะอยู่ภาคไหน ๆ ก็เป็นคนไทยด้วยกัน มีสิทธิในการได้รับการศึกษาเรียนรู้ เท่าเทียมกัน .....เด็ก ๆ ต่างก็ต้องรู้ ต้องเรียน ตามช่วงวัยของเขา เพื่อให้ได้รับความรู้พื้นฐานเพียงพอ ต่อการดำรงชีวิตและการศึกษาในระดับสูงขึ้น
ถึงแม้ว่าความไม่สงบในจังหวัด 3 ชายแดนภาคใต้ ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการจัดการการเรียนรู้ให้แก่เยาวชนในเขตพื้นที่ดังกล่าว และลุกลามไปยังจังหวัดใกล้เคียงด้วย แต่รัฐบาลชุดนี้ก็เป็นห่วงเป็นใย และจับมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหานี้
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้ประสานความร่วมมือกับโครงการสานใจไทย สู่ใจใต้ ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างมูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ชุมชนต้นแบบให้กับโครงการ ฯ ตามดำริของพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี
เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเปิดงานในโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ และต่อไปยังพิธีเปิด “ศูนย์การเรียนรู้ ตามแนวทาง สสวท.” ณ โรงเรียน อัครศาสน์วิทยา อ. ยี่งอ จ. นราธิวาส ตามโครงการเครือข่ายสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้เขตพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อ.จะนะ อ.นาทวี อ.สะบ้าย้อย และ อ.เทพา ซึ่งวางแนวทางจะขยายโครงการจัดตั้งศูนย์ การเรียนรู้ชุมชนในโรงเรียนต้นแบบไปยังสถานศึกษาที่มีความพร้อมใน เขตพื้นที่การศึกษา 5 จังหวัดดังกล่าว และเชื่อมโยงศูนย์การเรียนรู้เข้ากับเครือข่ายสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันภายในปีงบประมาณ 2552
การดำเนินงานโครงการเครือข่ายสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ สสวท. ปี 2550-2552 มี 3 ระยะ เริ่มจาก ระยะที่ 1 จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบที่โรงเรียนอัครศาสน์วิทยา จังหวัดนราธิวาส และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่อยู่ในความสนใจและเป็นความต้องการของครู นักเรียน และชุมชนเน้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมหรือ ETV เป็นหลัก เพื่อให้เยาวชนมีปฏิสัมพันธ์เรียนรู้กับโลกภายนอก ไม่อยู่ในระบบปิด และช่วยให้เข้าถึงข้อมูลได้กว้างขวาง เป็นการเปิด โลกทัศน์ไปพร้อม ๆ กัน
ระยะที่ 2 เป็นการขยายศูนย์การเรียนรู้ชุมชนไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ทั้ง 5 จังหวัด โดยประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้นำท้องถิ่น และหน่วยงานร่วมรับผิดชอบในพื้นที่ เพื่อกำหนดโรงเรียนที่มีความพร้อมและร่วมลงทุนให้กับโรงเรียนในท้องถิ่น โดย สสวท. สนับสนุนการอบรมและให้คำปรึกษาเชิงวิชาการ
ระยะที่ 3 เชื่อมโยงเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เพื่อจัดการศึกษาทางไกลเต็มรูปแบบ มีการจัดตั้งต้นทางปลายทาง เน้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ อาทิ Video Conference หรือ E-Learning ซึ่งต้องมีหน่วยงานในพื้นที่ให้ความร่วมมือร.ร. อัครศาสน์วิทยา นั้นแต่เดิมเป็นโรงเรียนปอเนาะ ชื่อว่าโรงเรียนปอเนาะอัตตารบียะตุล อัตพาล ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นร.ร. อัครศาสน์วิทยา ในระยะแรก สอนเฉพาะวิชาศาสนาอย่างเดียว ต่อมาได้สอนวิชาสามัญด้วย และเมื่อปีการศึกษา 2533 ได้ดำเนินการตามกระแสพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ในโครงการขยายชั้นเรียนตั้งแต่ชั้น ม. 1 — ม. 6
พร้อมกันนี้ทางโรงเรียนได้ขยายชั้นเรียนภาคศาสนาจากเดิมที่เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอิสลามศึกษา ปีที่ 1-4 (อิบตีดาอียะฮ์) มาเป็นชั้นอิสลามศึกษาตอนต้นและชั้นอิสลามศึกษาตอนกลางปีที่ 3 (มุตาวัซซิเฏาะฮ์) ปัจจุบันมีครูผู้สอนทั้งหมด 77 คน มีนักเรียนทั้งหมด 868 คน
ในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ตามแนวทาง สสวท. ร.ร. อัครศาสน์วิทยา สสวท. ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 550,000 บาท ซึ่งได้จัดมุมเรียนรู้เป็นมุมสื่อสิ่งพิมพ์ มุมสื่อ ICT มุมคอมพิวเตอร์ท่องโลกกว้าง มุมกิจกรรม หรือของเล่นประกอบการเรียนอุปกรณ์สาธิต และมุมแสดงความสามารถ นอกจากนั้นยังมีโครงการเรียนรู้แบบออนไลน์ สวทช. (NOLP) ศูนย์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (NECTEC) ศูนย์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STKC) และมหาวิทยาลัยไทยไซเบอร์ (TCU) จะให้ความร่วมมือในการพัฒนาสื่อ เนื้อหา และกิจกรรมวิชาการรวมทั้งการพัฒนาบุคลากรด้วย
นายราม ติวารี นักวิชาการสาขาฟิสิกส์ สสวท. หนึ่งในทีมงานจาก สสวท. ที่ร่วมเดินทางไปด้วย กล่าวถึงศูนย์ ฯ นี้ว่า “จุดเด่นของศูนย์ ฯ นี้คือเป็นต้นแบบที่ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมกับการเรียนรู้ของชุมชน ดูแลโดยชุมชน และอยู่ได้อย่างยั่งยืน สนับสนุนส่งเสริมให้ คนในชุมชนมีความสนใจและรักการศึกษาหาความรู้ ให้ความรู้สอดคล้องกับความต้องการ วิถีชีวิตของคนในชุมชน ซึ่ง สสวท. เป็นผู้ให้งบประมาณ และออกแบบศูนย์ จัดหาสื่อการเรียนรู้ ออกแบบกิจกรรมและฝึกอบรม เพื่อให้โรงเรียนนำไปดำเนินการต่อ
สิ่งที่ผมคาดหวังก็คืออยากให้เยาวชนและบุคคลในชุมชนใช้ประโยชน์จากศูนย์ ฯ ในการพัฒนาความรู้และโลกทรรศน์ เพื่อเป็นพลเมืองไทยที่มีความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ เป็นผู้ที่มีเหตุผล ซึ่งเป็น ส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมอารยะ”
ในวันเปิดศูนย์ นักเรียน ครู และนักวิชาการจาก สสวท. ร่วมกันศึกษาการใช้สื่อและองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ในสื่อ และฝึกจัดกิจกรรมสาธิตทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ เช่น ไข่เต้นระบำ เตียงตะปู เฮลิคอปเตอร์ลูกโป่ง นักประดาน้ำ ไข่เต้นระบำ เด็ก ๆ ได้แยกไข่สุกกับไข่ดิบออกจากกัน แล้วหมุนบนโต๊ะ จะพบว่าไข่ดิบหมุนช้า เวลาจับให้หยุดแล้วปล่อยทันทีจะหมุนต่อ เนื่องจากความเฉื่อยของของเหลวภายใน ส่วนไข่สุกหมุนเร็วและจับแล้วหยุดได้ทันที เมื่อปอกเปลือกไข่สุกวางบนปากขวดที่ต้มน้ำกำลังเดือด ไอน้ำจะดันไข่ไม่ให้ลง จึงทำให้เต้นระบำขึ้น ๆ ลง ๆ บนปากขวด เมื่อนำขวดลงวางบนโต๊ะ ไอน้ำเย็นตัวลงควบแน่นกลายเป็นหยดน้ำ ทำให้ไข่นิ่งแล้วปิดปากขวดอยู่ แล้วค่อย ๆ ไหลลงไป เนื่องจากความดันอากาศภายนอกมากกว่าภายในขวดเตียงตะปู ถ้าเหยียบตะปู 1 ตัว จะทะลุผิวของฝ่าเท้า หรือเจ็บ เนื่องจากแรงกดที่ผิวหนังคนทนแรงกดจากปลายตะปูได้มีค่าจำกัดค่าหนึ่ง ถ้ามีตะปูหลาย ๆ ตัวอย่างสม่ำเสมอสูงเท่ากันหมดจนแรงเฉลี่ยจะไม่ถึงค่าจำกัดดังกล่าว จะไม่ทำให้เจ็บและใช้นวดฝ่าเท้าได้ด้วย นอนก็ได้
สำหรับกิจกรรมเตียงตะปูนั้น นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษ เข้าไปร่วมทดลองทำกิจกรรมด้วยตนเอง ถึงไม่ใช่ฤาษี หรือนักมายากล ก็นอนเตียงตะปูกันได้ แต่เด็ก ๆ อย่าลองทำเองคนเดียวนะ จะต้องมีคุณครูหรือผู้รู้คอยดูแลอย่างใกล้ชิดขณะทำกิจกรรมนี้ด้วย
เฮลิคอปเตอร์ลูกโป่ง เมื่อเป่าลูกโป่งแล้วปล่อยลูกโป่งจะเคลื่อนที่ในทิศตรงข้ามกับทิศของลมในลูกโป่งที่ถูกพ่นออกมาตามหลักการแรงกิริยา และแรงปฏิกิริยากฎข้อที่ 3 ของนิวตัน แต่เมื่อประกอบใบพัดกับลูกโป่งจะทำให้ใบพัดหมุนเมื่อลูกโป่งพ่นลมออกมาทำให้เคลื่อนที่ขึ้นไปในแนวดิ่ง เหมือนกับเฮลิคอปเตอร์
นักประดาน้ำ เมื่อตัดหลอดดูดน้ำแล้วพับครึ่งทำเป็นรูปตัว V ใส่ลงในขวดน้ำพลาสติกที่ใส่น้ำเต็ม โดยนำด้านปากหลอดลงด้านล่าง น้ำจะเข้าไปในส่วนหนึ่งปิดฝาขวด แล้วบีบขวดจะทำให้หลอดตัว V ลงไปด้านล่างถ้าไม่ลงใช้ลวดหนีบถ่วงจะทำให้น้ำเข้าไปในหลอดมากขึ้น ทำให้ความหนาแน่นของหลอดตัว V มากขึ้น ทำให้นักประดาน้ำดำลงไปโดยหลักการของแรงลอยตัว
โดยภาพรวม นายกรัฐมนตรีมีความพอใจกับศูนย์ ฯ นี้มาก และถึงศูนย์ ฯ นี้จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้ว แต่ สสวท. ก็จะดูแลและติดตามผลไปอีก เรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่วนในระยะต่อไป จะมีการขยายผลจัดตั้งศูนย์เครือข่ายสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้เพิ่มขึ้นใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เด็ก ๆ ในแถบนั้นก็จะได้มีโอกาสเรียนรู้ได้มากขึ้น เพื่อสร้างความรู้ และการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชน
นายกรัฐมนตรีเองก็ได้แสดงความเป็นห่วงอย่างจริงจังต่อการนำพาพี่น้องชายแดนภาคใต้ไปสู่สันติสุข และหวังให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสทางการศึกษาที่ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เคยมีผู้รู้กล่าวไว้ว่า การป้องกันความขัดแย้ง เป็นงานของฝ่ายการเมือง แต่การเสริมสร้าง สันติสุขเป็นหน้าที่ของการศึกษา ดังนั้นเป้าหมายของการศึกษาคือการปฏิรูปมนุษยชาติ โดยพัฒนาลักษณะนิสัยภายในของเด็กให้ซึมซับความอ่อนโยน เอื้ออาทร เรียนรู้ร่วมกับกันผู้อื่น และรู้จักแบ่งปันช่วยเหลือ เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สำหรับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นเป็นการเรียนรู้ความจริง หาเหตุผลมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น การเรียนวิทยาศาสตร์ทำให้รู้จักเหตุและผลและที่สำคัญคือทำให้ใจกว้าง การศึกษาวิทยาศาสตร์เน้นให้คนมีเหตุผล จะเข้าใจและเผชิญหน้ากับสถานการณ์ได้ อย่างมีเหตุผล จะรู้จักใช้ความคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ในเชิงบวก ซึ่งจะนำพาไปสู่สันติสุขได้
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net