กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--นิวส์ เพอร์เฟค คอมมิวนิเคชั่น
สหสุธา บริษัทรับสร้างบ้านบนที่ดินของลูกค้า กระทุ้งภาครัฐ พิจารณา ให้ผู้สร้างบ้านกับบริษัทรับสร้างบ้าน สามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ หรือ นำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เชื่อสามารถกระตุ้นภาครวมของธุรกิจรับสร้างบ้าน และทำให้ภาครัฐจัดเก็บภาษี ได้มากยิ่งขึ้น
นายวิบูล จันทรดิลกรัตน์ กรรมการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านและ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหสุธา จำกัด เปิดเผยว่า จากนโยบายด้านอสังหาริมทรัพย์ล่าสุดของรัฐบาล ที่ตัดสินใจเพิ่มค่าลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยซื้อบ้าน ให้กับประชาชนทั่วไป เพิ่มจาก 5 หมื่นบาท เป็น 1 แสนบาท ถือเป็นการเปิดทางให้บุคคลธรรมดา สามารถนำภาระภาษีไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อีกทางหนึ่ง จึงอยากนำเสนอในส่วนของมาตรการ สำหรับนำมากระตุ้นภาคธุรกิจรับสร้างบ้าน บ้าง ซึ่งธุรกิจนี้กำลังมีบทบาทเป็นอย่างมาก ในภาพรวมของอสังหาริมทรัพย์ไทย
“ หากภาครัฐกำหนดให้ บุคคลธรรมดา ที่สร้างบ้านกับบริษัทรับสร้างบ้าน สามารถนำ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 % ที่ต้องจ่ายในการสร้างบ้าน มาขอคืนภาษี หรือ มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีได้ จะส่งผลดีต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้าน และผู้รับเหมารายย่อยทุกราย จำเป็นต้องเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด ไม่สามารถหลีกเลี่ยงภาษีได้อีกต่อไป เนื่องจากลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน ต้องนำใบเสร็จค่าก่อสร้างไปหักลดหย่อนภาษี ร้านค้าจำหน่ายวัสดุก่อสร้างต่างๆ ก็จำเป็นต้องออกใบเสร็จภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้บริษัทรับสร้างบ้าน เมื่อทุกอย่างทำถูกต้อง ภาครัฐก็สามารถจัดเก็บภาษีจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากยิ่งขึ้น แม้จะต้องเสียบางส่วน ในการให้ผู้สร้างบ้านสามารถขอคืนได้ แต่จากการคำนวณคร่าวๆ ภาครัฐจะสามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นได้อีกหลายเท่าจากระบบที่ใช้ในปัจจุบัน ที่สำคัญยังเป็นการกระตุ้นภาพรวมของธุรกิจรับสร้างบ้าน ให้มีมาตรฐานที่ดียิ่งขึ้น ทำให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม ผู้รับเหมารายย่อยทั่วๆไป จำเป็นต้องปรับตัว เข้าสู่ระบบมากยิ่งขึ้น ผู้บริโภคก็เสี่ยงน้อยลง เพราะผู้ประกอบการในระบบมีคุณภาพมากขึ้น ” นายวิบูล กล่าว
ส่วนในกรณีที่เกรงว่าอาจจะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาทีหลัง อาทิ มีการออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มปลอม มีการขอหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเกินความเป็นจริง หรือ ภาครัฐต้องสูญเสียรายได้จากการขอคืนภาษี มากเกินกว่ารายได้ภาษีที่ควรจะเก็บได้มา เป็นต้น เหล่านี้ ภาครัฐ ควรมองถึงมาตรการเสริม ที่จะออกมาควบคุมเพิ่มเติม เช่น อนุญาตให้ขอคืนได้เฉพาะผู้ที่สร้างบ้านหลังแรกเท่านั้น หรือ กำหนดให้ในการสร้างบ้านแต่ละหลังขอคืนได้ไม่เกิน 100,000 บาท เป็นต้น ส่วนข้อดีที่เห็นชัดอีกข้อคือ หากผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เข้าสู่ระบบภาษีมูลเพิ่มทั้งหมด เมื่อสิ้นปี ภาครัฐ ยังสามารถจัดเก็บภาษีนิติบุคคล จากผลกำไรประจำปี ในอัตรา 30 เปอร์เซ็นต์จากผลกำไรของธุรกิจอีกด้วย ซึ่งเมื่อมองในภาพรวมแล้ว ภาครัฐจะได้ผลประโยชน์ทางภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่าในปัจจุบัน อย่างเห็นได้ชัด ภาคธุรกิจรับสร้างบ้านจะได้รับความน่าเชื่อถือ และมีงานในมือมากยิ่งขึ้น ส่วนภาคประชาชนจะมีต้นทุนในการสร้างบ้านที่ลดลง
%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บ. นิวส์ เพอร์เฟค คอมมิวนิเคชั่น จก.
ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ โทร. 0-2956-5276-7
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net