ผู้อำนวยการ สสวท. เผยรัฐเร่งทำ “ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์” ปี 2550 จำนวน 90 ร.ร. ทั่วประเทศ ใช้โมเดลของโครงการ พสวท.

ข่าวเทคโนโลยี Friday March 30, 2007 10:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--สสวท.
ศ. ดร. สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า สสวท. ได้มีโครงการจัดทำ “ห้องเรียนพิเศษ” ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยปีหน้า สพฐ. ร่วมกับ สสวท. จัดทำห้องเรียนพิเศษในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ 90 แห่ง ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งมีการพูดคุยระหว่างเลขาธิการ สพฐ. และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ว่าจะมีการบริหารจัดการร่วมกันอย่างไร ซึ่งในอนาคตหากประสบผลสำเร็จคงจะขยายผล ต่อจาก 90 แห่งไปเรื่อย ๆ ซึ่งคาดว่าผลดีก็คือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีของนักเรียนจะดีขึ้น และนักเรียนไม่จำเป็นต้องเข้ามาเรียนในส่วนกลาง และสามารถต่อยอดเข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่นของตนเองได้โดยไม่ต้องสอบเอ็นทรานซ์
ทั้งนี้มีการพูดคุยกันแล้วว่าการจัดทำห้องเรียนพิเศษนี้ สพฐ. จะเป็นผู้ดูแลจัดการศึกษา สสวท. ช่วยเสริมทางด้านหลักสูตรผู้มีความสามารถพิเศษ ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาที่จะรับเด็กเหล่านี้ไป ต่อยอด สกอ.จะเป็นผู้ดูแล
“โครงสร้างการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนห้องเรียนพิเศษนี้ ใช้รูปแบบเดียวกันกับโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ซึ่ง สสวท. ได้ดำเนินการมาแล้ว 23 ปีและประสบความสำเร็จสูงมาก นักเรียนได้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ และทำวิจัยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ มีการจัดโปรแกรมเสริมต่าง ๆ มากมาย และสามารถเข้ามาหาวิทยาลัยโดยไม่ต้องสอบเอ็นทรานซ์ ซึ่งนักเรียนทุน พสวท. 7 ศูนย์โรงเรียน 7 มหาวิทยาลัย ต่างก็มีความสามารถสูงด้านวิทยาศาสตร์และการทำวิจัยและที่สำคัญคือเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณธรรมและจริยธรรมด้วย” ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัย 24 แห่ง
ที่มีความร่วมมืออยู่กับ สสวท. ก็จะเป็นพี่เลี้ยงในการทำวิจัยให้แก่นักเรียนเหล่านี้ด้วย
นางนิรมล ตู้จินดา ผู้แทน สพฐ. กล่าวเสริมว่า “สพฐ. พยายามเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อมด้าน การจัดการเรียนการสอนซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนประจำจังหวัด ซึ่งหากได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยก็จะสามารถพัฒนาหลักสูตรห้องเรียนพิเศษให้ทัดเทียมนานาชาติได้ ในอนาคตเมื่อดำเนินงานไปสักระยะหนึ่งแล้ว
ก็จะมีการระดมความคิดกันว่าสิ่งที่ดำเนินการไปนั้นติดขัดอย่างไรบ้างเพื่อนำไปสู่การประเมินผลและปรับปรุงการทำงานต่อไป”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ