กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--กรมส่งเสริมการส่งออก
กรมส่งออกฯเปิดแอพพลิเคชั่น ออนไลน์ผ่านไอแพท -ไอโฟน — บีบี รุกแดนมังกร — อาเซียน เร่งลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้าไทยไปจีน กรุยทางโลจิสติกส์สู่ 9 เมืองหลักรับตลาดเออีซี-เอฟทีเอ
นางมาลี โชคล้ำเลิศ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯร่วมกับศูนย์วิจัยโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ศึกษาเส้นทางกระจายสินค้าไทยในประเทศจีน ตามนโยบายของรมว.พาณิชย์ พรทิวา นาคาศัย โดยผลวิจัยตอกย้ำว่า จีนเป็นตลาดหลากหลายขนาดใหญ่และมีศักยภาพ ซึ่งงานวิจัยได้แสดงให้เห็นถึงเส้นทางการขนส่ง ต้นทุนการขนส่งสินค้าในประเภทอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม (ผักและผลไม้) ระยะเวลาการขนส่งสินค้า/บริการในรูปแบบต่างๆ 4 รูปแบบ คือ ทางน้ำ ทางถนน ทางราง และทางอากาศ ในเส้นทางสู่ 9 เมืองหลักของจีน
ทั้งนี้การศึกษาได้เจาะลึกแต่ละเส้นทางการขนส่งสู่ 9 เมือง ได้แก่ คุนหมิง เฉิงตู ฉงชิ่ง เซี่ยงไฮ้ หนานหนิง เซี่ยเหมิน ซีอาน กวางโจว และกรุงปักกิ่ง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้ทันทีโดยเฉพาะกรมฯจึงได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่น “DEP Logistics” สำหรับใช้ในอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ ในระบบปฏิบัติการของไอแพท และไอโฟน ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่กลุ่มผู้ใช้แบล็คเบอร์รี่(บีบี) และอื่นๆ ซึ่งทำหน้าที่เสนอข้อมูลเส้นทางการกระจายสินค้าจากไทยสู่จีน รวมทั้งข้อมูลการประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศเพื่อนบ้านอีก 3 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม และลาว ส่วนกัมพูชาจะสามารถนำข้อมูลมาใช้ได้ในไตรมาส 2 ในขณะที่ประเทศอาเซียนอื่นๆ จะพัฒนาข้อมูลและพร้อมทะยอยให้บริการในราวปลายปีนี้
ในปี 2554 นี้ กรมฯ ได้กำหนดเป้าหมายการค้าระหว่างไทย-จีนขยายตัวในอัตรา 3-4 % จากปีก่อนที่การค้าระหว่างไทยและจีนมีมูลค่าสูงถึง 45,713 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปจีน 21,473 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวสูงถึง 33% ขณะที่ไทยนำเข้าจากจีน 24,239 ขยายตัว 42 % ซึ่งถือว่าสูงมากเช่นเดียวกัน ทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีน 2,766 ล้านเหรียญสหรัฐในปีที่แล้ว
“การขาดดุลการค้าเป็นเรื่องที่กรมฯดูแลให้ส่งออกและนำเข้าสมดุลย์กัน พร้อมๆ กับการส่งเสริมความสะดวกการค้า การสร้างเครือข่ายในต่างประเทศ เพื่อรองรับเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) ที่ไทยมีข้อตกลงกับประเทศต่างๆ และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ในปี 2558 ที่มีเป้าหมาย คือ ต้องการรวมอาเซียนเป็นตลาดเดียว มีฐานการผลิตและมีการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการอย่างเสรี โดยเฉพาะด้านการกระจายสินค้านั้น ปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยไปร่วมทุนตั้งศูนย์กระจายสินค้าในจีนที่คุนหมิง กับหนานหนิง ล่าสุดทางเทศมนตรีเมืองอี้อู มณฑลเจ้อเจียง เชิญผู้ประกอบการไทยเข้าไปตั้งศูนย์กระจายสินค้า(ไทยโปรดักส์ ซิตี้)ในศูนย์การค้าส่งอี้อู โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งเอกชนกำลังพิจารณาว่า จะมีกลุ่มสินค้าใดสนใจบ้าง”นางมาลี กล่าว
นอกจากนี้ในผลการวิจัยมีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ อาทิ การขนถ่ายหลายครั้ง อาจทำให้สินค้าเสียหายได้ การเร่งปรับปรุงระเบียบพิธีการทางศุลกากรให้ทันสมัย การปรับปรุงโครงสร้างอุตสาสหกรรมการส่งออกสินค้าของไทย การส่งเสริมการขายสินค้าเกษตรใหม่ๆ การควบคุมมาตรฐานสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานของจีน รัฐบาลควรสร้างเสถียรภาพของค่าบริการขนส่งไปจีน การศึกษากฎหมายสำคัญเกี่ยวกับการลงทุน ความรอบคอบในการเลือกผู้ร่วมลงทุน การปรับปรุงการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนำเข้าตามมาตรา 19 ทวิ เป็นต้น
สำหรับการเปิดเผยผลวิจัยครั้งนี้ ได้จัดในรูปงานสัมมนา “เส้นทาง โลจิสติกส์ไทยสู่แดนมังกร” รวมทั้งมีการเสวนาโดยผู้ส่งออกไทยที่มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จในการส่งออกสินค้าไทยไปจีน ได้แก่ นายประเสริฐศักดิ์ องค์วัฒนกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่จากบริษัท อี.ซี.ไอ.กรุ๊ปจำกัด(เครือเจริญโภคภัณฑ์) นายธีระชัย พิพิธศุภผล ผู้อำนวยการด้านโลจิสติกส์ จากกลุ่มบริษัทน้ำตาลมิตรผล และนายดนัย คาลัสซี รองประธานฝ่ายซัพพลายเชน จากบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งได้มาให้ความรู้อย่างรอบด้านและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนถ่ายทอดประสบการณ์ในการส่งออกสินค้าตามเส้นทางดังกล่าว
ทั้งนี้ กรมฯ คาดว่าการศึกษาต้นทุนการขนส่งสินค้าไปจีนครั้งนี้ จะทำให้ผู้ส่งออกที่เข้าร่วมงานประมาณ 500 คน มีข้อมูลมากขึ้นสำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกเส้นทางและวิธีขนส่งสินค้าไปยังจีนและสามารถลดต้นทุนในการขนส่งสินค้าได้ส่วนหนึ่ง สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจและพลาดการสัมมนาจะทราบข้อมูลรายงานการศึกษาดังกล่าว สามารถติดต่อขอรับข้อมูลได้ที่ สำนักโลจิสติกส์การค้า กรมส่งเสริมการส่งออก โทร 02-507-8424 หรือ สายด่วน 1169