กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เพิ่มความระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในระยะ1-2 วันนี้ (7-9 ส.ค 50) พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่ออพยพประชาชนไปในพื้นที่ปลอดภัย
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า พายุดีเปรสชั่นในทะเลจีนใต้ ได้เคลื่อนตัวไปทางเหนือค่อนตะวันตก ทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย มีกำลังแรง ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก มีฝนชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดอุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี และตราด จึงขอเตือนให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ลุ่มน้ำของจังหวัดดังกล่าว ให้ระมัดระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งดินโคลนถล่มตามแนวเชิงเขา ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยยังคงมีกำลังแรง คลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 7-9 สิงหาคม 2550 เบื้องต้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งให้จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย ดินถล่มและคลื่นลมแรง จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์
ส่วนสถานการณ์อุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา กรมปภ.ได้รับรายงานจากจังหวัด ที่ประสบภัย ระหว่างวันที่ 1-6 สิงหาคม 2550 มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 4 จังหวัด 9 อำเภอ 16 ตำบล 59 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดน่าน เชียงราย อุบลราชธานีและศรีสะเกษ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 6,500 คน 1,250 ครัวเรือน อพยพราษฎรไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย 315 คน มีผู้เสียชีวิต 1 คน สูญหาย 2 คน ในพื้นที่ที่จังหวัดศรีสะเกษ บ้านเรือนเสียหายบางส่วน10 หลัง ถนน 16 สาย คอสะพาน 6 แห่ง พื้นที่การเกษตร 1,157 ไร่ บ่อปลา 14 บ่อ ฝาย 7 แห่ง พนังกั้นน้ำ 2 แห่ง เหมือง 1 แห่ง ประปาภูเขา 6 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 3,450,000 บาท ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยได้คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เหลือเพียงจังหวัดอุบลราชธานีและศรีเกษ ที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย เนื่องจากมีน้ำท่วมขังอยู่และเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับการให้ความช่วยเหลือ กรมปภ.ได้ประสานไปยัง
ผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมสั่งการหน่วยงานในสังกัด จัดเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยในเบื้องต้น พร้อมสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องจักรกล รวมทั้งอาหารและน้ำดื่มสะอาด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน รวมทั้งเร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯโดยด่วน สุดท้ายนี้ หากประชาชนในพื้นที่ใดประสบความเดือดร้อนจากสาธารณภัยติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วน 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานขอให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป