VIV Asia 2011 สะท้อนภาพความคึกคักอุตสาหกรรมปศุสัตว์เอเชีย-แปซิฟิก

ข่าวทั่วไป Monday March 14, 2011 12:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--SPOTMARK งาน VIV Asia 2011 โตกว่า 20% ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีปศุสัตว์มุ่งจับเอเชีย เชื่ออนาคตเป็นฐานการผลิตเนื้อสัตว์ที่คึกคักที่สุดของโลก ผลจากเศรษฐกิจโตฉลุย งาน VIV Asia 2011 งานแสดงเทคโนโลยีปศุสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียเปิดประตูต้อนรับผู้ชมงานนับพันคนจากทั่วทุกมุมโลก เข้าชมเทคโนโลยีครบวงจร ภายใต้แนวคิด “จากอาหารสัตว์สู่เนื้อสัตว์” ระหว่างวันที่ 9-11 มีนาคม 2554 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติไบเทค บางนา งาน VIV Asia 2011 เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยยอดผู้แสดงสินค้ากว่า 700 รายจาก 45 ประเทศทั่วโลก ที่นำเทคโนโลยีปศุสัตว์ล่าสุด และ โซลูชั่นส์ทางธุรกิจมานำเสนอแก่ผู้ประกอบการและมืออาชีพในอุตสาหกรรมปศุสัตว์เอเชียที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในพิธีเปิดงาน VIV Asia 2011 ซึ่งเป็นการจัดงานครั้งที่ 10 นายฤกษมัย สุขุม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด ได้กล่าวว่า “ความน่าสนใจของอุตสาหกรรมปศุสัตว์เอเชียประการหนึ่งคือ การเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา จากการผลิตเพื่อการบริโภคในครัวเรือน เป็นการผลิตเชิงอุตสาหกรรม การเติบโตดังกล่าวสอดคล้องกับพัฒนาการของงาน VIV Asia ที่เริ่มต้นจากงานเล็กๆ จนถึงทุกวันนี้ งาน VIV Asia 2011 เป็นงานแสดงเทคโนโลยีปศุสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ภายใต้แนวคิด จากอาหารสัตว์สู่เนื้อสัตว์” “เมื่องาน VIV Asia เปิดตัวครั้งแรกในเอเชียในปี 2536 จุดมุ่งหมายหลักประการหนึ่งคือการนำเสนอเทคโนโลยีปศุสัตว์ที่ทันสมัยให้แก่อุตสาหกรรมปศุสัตว์เอเชีย ตราบจนทุกวันนี้ของการจัดงาน VIV Asia ครั้งที่ 10 หรือครบรอบ 20 ปี เทคโนโลยี ก็ยังคงเป็นหัวใจหลักและเป็นจุดเด่นของงาน เพราะอดีตที่ผ่านมาได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า เทคโนโลยีคือกุญแจที่นำไปสู่ความสำเร็จ” ทั้งนี้จากคำกล่าวของ มร. จีราด ลูเวนเบิร์ก ผู้อำนวยการงานแสดงสินค้านานาชาติ วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ ยุโรป ผู้จัดงาน VIV ทั่วโลก การที่จำนวนผู้แสดงสินค้าเพิ่มขึ้นกว่า 20% ในปี 2554 สะท้อนให้เห็นว่าผู้นำเทคโนโลยีปศุสัตว์กำลังพุ่งความสนใจสู่ภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ทุกฝ่ายเชื่อว่าจะมีอนาคตที่สดใส ผมเชื่อว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเอเชียจะกลายเป็นภูมิภาคที่ผลิตเนือสัตว์ที่คึกคักที่สุดในโลก” มร. ลูเวนเบิร์กกล่าว นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานในพิธีเปิดงาน VIV Asia 2011 กล่าวกับผู้เข้าร่วมงานจากนานาประเทศว่า “รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี และเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีคือปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของประเทศไทย ที่พัฒนาจากการเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภคในครัวเรือนสู่การเลี้ยงสัตว์เชิงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสัตว์ปีก ที่ประเทศไทยจัดเป็นหนึ่งในสิบของผู้ส่งออกเนื้อไก่ชั้นนำของโลก” อย่างไรก็ดีในยุคโลกาภิวัฒน์ ไม่มีประเทศใดในโลกที่จะเติบโตแต่เพียงผู้เดียว “ด้วยเหตุที่งาน VIV Asia 2011 เป็นงานระดับนานาชาติ มีผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการจากทั่วโลกมาร่วมชุมนุมกัน ผมจึงใคร่ขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาลได้ใช้โอกาสนี้ในการแสวงหาโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือระดับนานาชาติ เพื่อให้อุตสาหกรรมปศุสัตว์เอเชียก้าวรุดหน้าต่อไป อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน” นอกเหนือจากเทคโนโลยีปศุสัตว์แล้ว วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ ยุโรป และ นีโอ ยังได้เปิดโซนเทคโนโลยีใหม่อีก 2 โซน เพื่อสนับสนุนแนวคิด “จากอาหารสัตว์สู่เนื้อสัตว์” กล่าวคือ Feedtec-Croptech Asia 2011 มุ่งเน้นที่เทคโนโลยีการผลิตอาหารสัตว์ โดยร่วมกับ วัตต์ พับลิชชิ่ง และโซนที่สอง LAB@VIV Asia 2011 มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยีเครื่องมือปฏิบัติการเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์และความปลอดภัยอาหาร ซึ่งจัดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่าง VIV และ โพสสิทีพ แอ็คชั่น พับลิเคชั่น พร้อมกันนี้ China Vision ก็ยังถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมเด่นในงาน VIV Asia 2011 โดยเป็นกิจกรรมรูปใหม่ของการจับคู่ทางการค้า ที่ VIV ร่วมกับ eFeedlink จัดขึ้น โดยการเชิญผู้นำในอุตสาหกรรมปศุสัตว์จากประเทศจีน 50 รายมาพบกับผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านการจัดซื้อระดับนานาชาติ 250 ราย มาพบกันในบรรยากาศงานรับประทานอาหารค่ำกึ่งการประชุมนานาชาติเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และเจรจาธุรกิจในวันที่ 9 มีนาคม 2554 ณ ศูนย์ไบเทค บางนา ทั้งนี้คณะผู้จัดงานได้เชิญวิทยากรชั้นนำจาก สมาคมปศุสัตว์แห่งประเทศจีน — China Animal Agriculture Association และศูนย์วิจัย eFeedlink ประจำประเทศจีนมาร่วมบรรยายถึงโอกาสของธุรกิจอาหารสัตว์และปศุสัตว์ในประเทศจีน ในยุคปัจจุบัน การปลูกพืชไม่ได้มุ่งหวังเพื่อเป็นอาหารสัตว์หรือเพื่อผลิตอาหารแต่เพียงอย่างเดียว พืชได้ถูกนำไปใช้อย่างหลากหลายมากขึ้น ทำให้ความต้องการของพืชเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการนำไปเป็นวัตถุดิบเพื่อการแปรรูปและผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วยเหตุนี้เอง การผลิตจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ และได้ปริมาณให้ทัดเทียมกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นภายในงาน VIV Asia 2011 จึงได้จัดให้มีการประชุมนานาชาติ BioEnergy Asia 2011 ในวันที่ 9 มีนาคม 2554 เพื่อมุ่งเน้นด้านพัฒนาการและวิวัฒนาการที่ทันสมัยของพลังงานชีวภาพไม่ว่าจะเป็นปาล์มน้ำมัน ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง เอธานอล และโปรตีนจากสัตว์ คณะผู้จัดงานเชื่อว่าการลงทุนที่เกิดขึ้นในช่วง 3 วันของการจัดงาน VIV Asia 2011 จะมีมูลค่าสูงนับพันล้านบาท เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะใช้งาน VIV Asia 2011 เป็นเวทีการเจรจาการค้าและตัดสินใจด้านการลงทุน สำหรับประเทศไทยก็จะได้รับประโยชน์จากการจัดงานในครั้งนี้เป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 26.5 พันล้านบาท โดยเฉพาะในธุรกิจไมซ์ นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายงานแสดงสินค้านานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. กล่าวเสริมว่า “สสปน. ยินดีที่เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของ VIV Asia 2011 ด้วยการให้การสนับสนุนกิจกรรมการประชาสัมพันธ์งาน VIV Asia 2011 และบรรจุเป็นหนึ่งในงานแสดงสินค้าในโครงการ Better The Best ของ สสปน. เพื่อยกระดับมาตรฐานงานแสดงสินค้าในประเทศไทยสู่ความเป็นหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย” “ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์ของอาเซียน และเป็นเวทีแห่งโอกาสทางธุรกิจชั้นแนวหน้า ดังนั้น สสปน. ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี จึงมีนโยบายให้การสนับสนุนและส่งเสริมผู้จัดงานแสดงสินค้าใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการจัดงานแสดงสินค้า พร้อมกับเชื่อมั่นว่าด้วยมาตรฐานทางธุรกิจและคุณภาพของบุคลากร งานแสดงสินค้าที่จัดในประเทศไทยจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยคาดว่าในปีนี้อุตสาหกรรมไมซ์ของไทยจะดึงดูดนักธุรกิจให้เดินทางสู่ประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับประเทศราว 45 พันล้านบาท ด้านการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ปี 2554 คาดว่าจะอยู่ในอัตรา 15%” นางศุภวรรณกล่าว สื่อมวลชนกรุณาติดต่อ นางสาว ปนัดดา ก๋งม้า — สื่อสารการตลาด โทร 02 203 4245 อีเมล์:panadda.kon@qsncc.com นายศิระพัฒน์ เกตุธาร — ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์: +66 2 978 2519 อีเมลล์: sk@sptmrk.com สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. +66 2 978 2519 SPOTMARK

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ