กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--ทริปเปิล เจ คอมมิวนิเคชั่น
“ญี่ปุ่น”ประเทศที่เคยประสบกับภาวการณ์เลวร้ายจากการโดนระเบิดปรมาณูหรือระเบิดนิวเคลียร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายคนอาจยังจำเหตุการณ์ประวัติศาสตร์จากบทเรียนวันนั้นวันที่ระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกถูกทิ้งลงที่ฮิโรชิมาติดตามมาด้วยเมืองนางาซากิ ส่งผลประชาชนล้มตายนับแสนคนและยังได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีนานอีกหลายปี
วันนี้หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปนั่นคือทั่วประเทศญีปุ่นมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ทั้งหมด 17 แห่งแต่ละแห่งมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลายเครื่อง ปัจจุบันญีปุ่นผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์คิดเป็นร้อยละ 34 และมีแนวโน้มว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เป็นร้อยละ 50-60 เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติลง
รายงานการวิจัยเรื่อง “การพัฒนากฎหมายและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดการปัญหาพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศญีปุ่น : บทเรียนต่อประเทศไทย” ระบุว่าการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ในญีปุ่นเริ่มมีการค้นคว้าและวิจัยมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2497 โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนากฎหมายด้านนิวเคลียร์เพื่อรองรับนโยบายพัฒนาทางเศรษฐกิจเพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมที่นับวันจะเพิ่มขึ้น ซึ่งในขณะนั้นเกือบทุกประเทศต้องเผชิญกับวิกฤติน้ำมันทำให้ญี่ปุ่นต้องพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ให้เร็วขึ้น
การผลักดันพลังงานนิวเคลียร์ของญีปุ่นนั้นอยู่ภายใต้การดำเนินการของคณะกรรมการฯที่แต่งตั้งขึ้น ไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างไรการทำงานด้านนี้ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง อีกทั้งยังได้รับการช่วยเหลือด้านความรู้และเทคโนโลยีจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกาทำให้การพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของญีปุ่นก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วภายใต้หลักการ 1) การไม่ใช้และไม่เผยแพร่อาวุธนิวเคลียร์ 2) การเคารพและปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยขององค์การปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) อย่างเคร่งครัด 3) การรณรงค์ให้ประชาชนยอมรับพลังงานนิวเคลียร์ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การ์ตูนเรื่องเจ้าหนูปรมาณู 4) ความร่วมมือทวิภาคี เช่น พัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับสหรัฐอเมริกา 5) นโยบายรัฐบาลทุกชุดให้ความสำคัญกับพลังงานนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องไม่เปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพลังงานนิวเคลียร์ถึง 8 กลุ่มถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญีปุ่นประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ กฎหมายดังกล่าวประกอบด้วย 1) กฎหมายพื้นที่ว่าด้วยพลังงานปรมาณู (Atomic Basic Law) เริ่มจากประเด็นใหญ่ๆ ก่อนแตกเป็นหมวดต่าง ๆ โดยมีคณะกรรมการว่าด้วยพลังงานปรมาณูแห่งชาติทำหน้าที่กำกับดูแล 2) กฎหมายจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการปรมาณู (Organization Law) 3) กฎหมายเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ (Research and Development Law) 4) กฎหมายเกี่ยวกับกฎระเบียบข้อบังคับ (Regulation Law) 5) กฎหมายเกี่ยวกับการชดเชยค่าเสียหายโดยรัฐ (Compensation Law) เป็นกฎหมายที่ถือเป็นจุดเด่นและมีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเกิดเหตุอะไรขึ้นต้องรับผิดชอบต่อประชาชนอย่างเต็มที่ โดยชดเชยค่าเสียหายอย่างไม่จำกัดความรับผิด 6) กฎหมายส่งเสริมและการพัฒนาการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ (Electric Power Development Promotion) เป็นจุดเด่นที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากรัฐ เช่นการยกเว้นภาษี การได้ใช้ไฟฟ้าฟรี เป็นการได้รับผลตอบแทนเพียงพอกับการที่ต้องเสียบางอย่างไป 7) กลุ่มกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการกากของเสียจากนิวเคลียร์ (Nuclear Waste Management Law) 8) กฎหมายสิ่งแวดล้อม (Environmental Law) ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาก มีกฎหมายกว่า 100 ฉบับที่ลงรายละเอียดเป็นการเฉพาะกรณีนั้น ๆ
การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นนั้นเริ่มตั้งแต่นโยบายพลังงานที่เน้นความสำคัญของพลังงานนิวเคลียร์ การเตรียมและพัฒนากฎหมายพลังงานนิวเคลียร์อย่างรอบด้าน การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง การเมืองญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญต่อนโยบายพลังงานนิวเคลียร์ การประสานงานการทำงานกันอย่างดีของหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการพลังงานนิวเคลียร์ ความร่วมมือในการพัฒนาทั้งในและนอกประเทศ และการสนับสนุนวิจัยและการเผยแพร่ความรู้นิวเคลียร์แก่สังคม
การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของไทยให้ประสบผลสำเร็จได้จำเป็นต้อง 1) นโยบายพลังงานนิวเคลียร์ ผลักดันให้เป็น“วาระแห่งชาติ” 2) เร่งออกกฎหมายความรับผิดด้านนิวเคลียร์ 3) พัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง 4) การสร้างฎความรู้ความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับโรงไฟฟ้า 5) การพัฒนาบุคลากรด้านนิวเคลียร์ 6) มุ่งแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ 7) การดำเนินการและงบประมาณต้องมีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน