วายแอลจี ชี้เหตุแผ่นดินไหว-สึนามิญี่ปุ่นเพิ่มปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลก หนุนราคาทอง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 14, 2011 17:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--PRdd นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ รองประธานกรรมการ บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึมานิถล่มญี่ปุ่นครั้งร้ายแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นปัจจัยบวกอีกปัจจัยหนึ่งที่หนุนราคาทองคำต่อไป เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีการคาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอาจเข้าสู่สภาวะถดถอยในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเช่นกัน เพราะญี่ปุ่นถือว่าเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลกซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศอยู่ที่ 5.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่หลายฝ่ายยังมีความกังวลกับผลพวงของแผ่นดินไหวไม่ว่าจะเป็น การเกิดอาฟเตอร์ช็อคที่อาจสร้างความเสียหายเพิ่มเติมขึ้นได้อีกหรือไม่ ปัญหาของการเกิดระเบิดขึ้นที่เตาปฏิกรณ์ ที่โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ยังไม่มีการยืนยันถึงความปลอดภัยอย่างเป็นทางการ โดยหากสถานการณ์เลวร้ายถึงขนาดมีการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีในระดับร้ายแรงขึ้นแล้ว จะยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นเป็นทวีคูณทันที ดังนั้นหากมองผลกระทบของการเกิดแผ่นดินไหวของญี่ปุ่นในแง่มุมต่อเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเป็นไปด้วยความอ่อนแอและยังปกคลุมไปด้วยความเสี่ยงนานัปการ การเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ก็คือการเพิ่มอีกปัจจัยเสี่ยงหนึ่งเข้ากดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแออยู่แล้วให้อ่อนแอไปอีก นางพวรรณ์ กล่าวว่า สำหรับในระยะสั้นนักลงทุนอาจต้องจับตาดูราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด เพราะสถานการณ์ดังกล่าวค่อนข้างส่งผลลบต่อราคาน้ำมันที่มีความสัมพันธ์กับราคาทองคำในทิศทางเดียวกัน หากราคาน้ำมันมีการอ่อนตัวลงจะส่งผลให้ราคาทองคำอ่อนตัวลงได้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามทางวายแอลจีเชื่อว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งราคาทองคำจะสามารถดีดตัวแยกออกจากราคาน้ำมันได้ในที่สุดจากคุณสมบัติการเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยนั่นเอง สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ทางวายแอลจียังแนะนำให้นักลงทุนระยะกลางและระยะยาวรอจังหวะเข้าซื้อเมื่อราคาอ่อนตัวเข้าใกล้ระดับ 1,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ ประมาณ 20,100-20,200 บาทต่อบาททอง เพื่อทำกำไรบริเวณเป้าหมายที่ 1,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือประมาณ 20,750 บาท/บาททองคำ และ 1,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือประมาณ 20,150 บาท/บาททองคำ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ