สสวท.คว้าตัวผู้แทนประเทศไทยฟิสิกส์โอลิมปิกมาเล่าเบื้องหลังความสำเร็จ สด ๆ ร้อน ๆ

ข่าวทั่วไป Wednesday July 25, 2007 15:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.ค.--สสวท.
ข่าวดีมีเฮ ! เมื่อผู้แทนประเทศไทยจำนวน 5 คน คว้าชัยฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ แข่งขันเมื่อวันที่ 13-21 กรกฎาคม 2550 ณ เมืองอิสฟาฮาน ประเทศอิหร่านได้ 1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดงดังนี้
นายกษิดิศ โตประเสริฐพงศ์ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(ฝ่ายมัธยม) กทม. เหรียญทอง
นายประพฤทธิ์พงศ์ อธิวรัตถ์กูล โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม จ.บุรีรัมย์ เหรียญเงิน
นายชานน อริยประกาย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กทม. เหรียญเงิน
นายพลณพ สมุทรประภูติ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กทม. เหรียญทองแดง
นายวรวิทย์ วรพิพัฒน์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม เหรียญทองแดง
คณะอาจารย์ที่ร่วมเดินทางได้แก่ หัวหน้าทีม รศ. สุวรรณ คูสำราญ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รองหัวหน้าทีม ผศ. ดร. ปิยพงษ์ สิทธิคง มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยหัวหน้าทีม อ. สุจินต์ วังสุยะ มหาวิทยาลัยมหิดล อ. กุลพันธ์ พิมพ์สมาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้จัดการทีม นางสาวนันท์นภัส ลิ้มสันติธรรม นักวิชาการสาขาฟิสิกส์ สสวท.
เราจึงคว้าตัวเด็กเก่งทั้ง 5 คนมาเล่าประสบการณ์การแข่งขันครั้งนี้ให้ฟังอย่างไม่รอช้า
นายกษิดิศ โตประเสริฐพงศ์ (แชมป์) โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(ฝ่ายมัธยม) กทม. เหรียญทอง เผยว่าดีใจที่ได้ผลตอบแทนจากความพยายามที่ตั้งใจฝึกฝนทั้งทำโจทย์และฝึกภาคปฏิบัติ ภูมิใจที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย ผมคิดว่าทุกคนที่ไปแข่งเก่งเท่ากันหมด แต่อยู่ที่ความเร็วในการทำข้อสอบและความรอบคอบ “ที่ผมได้เหรียญทองนั้นคิดว่าเป็นเพราะมีสติและตั้งใจทำโดยไม่ลนลาน วิชาฟิสิกส์ถ้าจะเรียนให้สนุกอย่าเรียนด้วยการท่องจำแต่ให้เรียนด้วยความเข้าใจครับ สำหรับอนาคตตั้งเป้าอยากเรียนให้จบปริญญาเอกและกลับมาทำงานให้ประเทศไทย”
น้องแชมป์ชอบเรียนทั้งฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ และเมื่อก่อนชอบทฤษฎีมากกว่าคำนวณ แต่หลัง ๆ ได้รู้จักแล็ปฟิสิกส์ที่สนุก ๆ ได้รู้จักเครื่องมือบางอย่างที่เหลือเชื่อ ตอนนี้จึงชอบทฤษฎีกับแล็ปเท่า ๆ กัน คุณครูในดวงใจ คือ อาจารย์สันติที่โรงเรียนสาธิตจุฬา ฯ เป็นอาจารย์สอนเคมีที่สอนแล้วสนุกและไม่เครียด รู้และคิดทันนักเรียน ให้กำลังใจนักเรียนเสมอ และอาจารย์สุวรรณ คูสำราญ ที่สอนในค่ายโอลิมปิก ฯ อาจารย์สอนสนุก เข้าใจนักเรียน มีอารมณ์ขัน
ก่อนหน้าที่จะไปแข่งโอลิมปิกวิชาการ หนุ่มน้อยคนนี้เล่นเทนนิสเกือบทุกวัน และได้เป็นนักกีฬาโรงเรียนด้วย เวลาว่างใช้ในการท่องเน็ต และอ่านหนังสือการ์ตูน และได้ฝากเคล็ดลับการเรียนไว้ว่าอย่าไปเครียดเมื่อเรียนไม่รู้เรื่อง และที่สำคัญคืออย่าเรียนแบบท่องจำ เพราะเดี๋ยวก็ลืม พยายามเรียนทุกอย่างด้วยความเข้าใจ “ผมไม่อยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมเรียนพิเศษ อยากให้พัฒนามาตรฐานการศึกษามากกว่านี้”
ก่อนนี้ น้องแชมป์เคยได้เหรียญเงิน จากการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ปี 2549
รางวัลเหรียญทองแดง การแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชีย ปี 2549 และ 2550 รวมทั้งเป็นประธานกลุ่มเยาวชน UCE แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ณ ออสเตรเลีย และแคนาดา
นายประพฤทธิ์พงศ์ อธิวรัตถ์กูล (เบ็นซ์) โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม จ.บุรีรัมย์ เหรียญเงิน เผยว่าการแข่งขันครั้งนี้มีข้อสอบภาคทฤษฏี 3 ข้อรวม 30 คะแนน และภาคปฏิบัติ 1 ข้อรวม 20 คะแนน ผมค่อนข้างทำภาคปฏิบัติได้ดีกว่าซึ่งได้ทำแล็ปเรื่องสเปคโตรมิเตอร์ และเรื่องระดับชั้นพลังงาน วิชาฟิสิกส์เป็นวิชาที่อาศัยความเข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้วก็ไม่ต้องท่องจำครับ “อยากให้เยาวชนหันมาสนใจวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ให้มากขึ้น พูดถึงโครงการโอลิมปิกวิชาการมีส่วนช่วยมากในการกระตุ้นให้เด็กไทยสนใจวิชาการมากขึ้นจะได้เป็นกำลังของประเทศชาติ เพื่อน ๆ คนไหนถ้าสนใจโครงการนี้ก็ลองสอบเข้ามากัน นะครับจะได้ประสบการณ์ที่ดีกลับไปและจะได้ค้นคว้าหาความรู้ด้วย”
ก่อนนี้ น้องเบนซ์เคยได้รางวัลชมเชย การแข่งขันคณิตศาสตร์เพชรยอดมงกุฎ ครั้งที่ 9 ได้เหรียญทองจากการแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกแห่งประเทศไทย ปี 2549 วิชาฟิสิกส์
และรางวัลชนะเลิศ การแข่งขันกระบวนการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ฯลฯ
นายชานน อริยประกาย (หมี) โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เหรียญเงิน กล่าวว่าไปแข่งขันครั้งนี้ทำให้เรียนรู้ที่จะดูแลรับผิดชอบตัวเองมากขึ้น ได้รู้จักวัฒนธรรมชาติอื่นๆและแลกเปลี่ยนมิตรภาพกับเพื่อนที่มีความสนใจด้านเดียวกัน ผมคิดว่าโครงการโอลิมปิกวิชาการเป็นหนทางหนึ่งที่จะพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์ไทยได้มาก เพราะกระตุ้นให้เด็กสนใจเรียนด้านนี้มากขึ้นและส่งเสริมให้เด็กที่มีความสามารถทางด้านนี้ได้รับการศึกษาจากอาจารย์ที่มีความสามารถสูงการเรียนวิทยาศาสตร์แบบที่ชอบก็คือได้มีโอกาสทำการทดลองด้วย นอกจากนี้ก็อยากให้โรงเรียนต่าง ๆ จัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์โดยให้นักเรียนได้มีโอกาสคิดและฝึกปฏิบัติครับ “อยากให้รัฐบาลส่งเสริมการเรียนการสอนและกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น ช่วยกระตุ้นให้เยาวชนมีความสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น”
ก่อนนี้ น้องหมีเคยได้รางวัลเกียรติคุณประกาศ การแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเซีย ปี 2549
เหรียญทองแดง การแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกแห่งชาติ ของ สอวน. และรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 การแข่งขันตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน (ม.4)
นายวรวิทย์ วรพิพัฒน์ (วิทย์) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม เหรียญทองแดงเผยว่าปีนี้ข้อสอบเน้นปริมาณไม่เน้นความยาก ข้อสอบมี 3 ข้อใหญ่และข้อย่อยอีกเพียบ ให้เวลาทั้งหมด 5 ชั่วโมง ข้อสอบไม่ยากนักแต่ว่าวันแรกผมทำข้อสอบเอื่อยไปหน่อยจึงทำเสร็จเกินครึ่งไปนิดเดียวซึ่งข้อย่อยนี้มีราว 30 ข้อ ผมทำเสร็จไปประมาณ 20 ข้อ เรื่องประทับใจจากการไปแข่งขันก็คือได้รับประสบการณ์ที่ดีได้ทำความรู้จักกับเพื่อนประเทศอื่นๆ ได้นำการไหว้ของไทยไปเผยแพร่ที่นั่น ผมรู้สึกว่าเพื่อนๆ ที่อิหร่านเขาก็รู้จักประเทศไทยกันพอสมควรครับ เพื่อนบางคนก็เคยมาเมืองไทยด้วย
ก่อนนี้ น้องวิทย์เคยได้เหรียญทองจากการแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกแห่งประเทศ ปี 2549 วิชาฟิสิกส์ ชนะเลิศ การตอบปัญหาคณิตศาสตร์ กลุ่มโรงเรียนเอกชน จังหวัดปราจีนบุรี ตั้งแต่ ป.1-ป.6 ชนะเลิศ การตอบปัญหาคณิตศาสตร์ กลุ่มโรงเรียนเอกชน ภาคตะวันออก ป.5 ฯลฯ
นายพลณพ สมุทรประภูติ (โพ) โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เหรียญทองแดงเผยว่าจะรับทุนโอลิมปิกวิชาการไปศึกษาต่อต่างประเทศโดยจะใช้เวลาอีก 2 ปีที่เหลือเรียนรู้และค้นหาตัวเองว่าสนใจลงลึกทางฟิสิกส์ด้านไหน ซึ่งขณะนี้สนใจด้านนาโนเทคโนโลยีเป็นพิเศษ อนาคตอยากเป็นอาจารย์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ใจจริงอยากไปให้ถึงนาซ่า ปกติผมเป็นคนไม่ซีเรียส และคิดว่าเด็กที่เรียนสายวิทยาศาสตร์ไม่ใช่คนที่จำเป็นต้องเคร่งเครียด การเรียนวิทยาศาสตร์ให้มีความสุขต้องไม่กดดันตัวเอง เวลาเครียดอาจหาทางพักผ่อนเช่นเล่นดนตรี ส่วนผมเองถ้าเครียดจะเล่นอินเตอร์เน็ตอ่านหนังสือที่สบายอารมณ์ครับ
คุณครูในดวงใจ คือ อาจารย์อวิรุทธิ์ วิเศษชาติ และอาจารย์วีระชัย ญานเดชอังกูร เพราะท่านทั้งสองเอาใจใส่ต่อนักเรียน ทำให้ผมจากเด็กที่แทบทำอะไรไม่เป็นเลยมาเป็นผมในวันนี้ได้ รวมทั้งอาจารย์นิพนธ์ ศรีนฤมล ที่ช่วยปลุกจิตวิญญานนักวิทยาศาสตร์ของผม รวมทั้งอาจารย์ในค่ายโอลิมปิกทุก ๆคนที่มีส่วนช่วยให้ความรู้และอบรมสั่งสอนผมมามากมายนับไม่ถ้วน
ผมชอบฟิสิกส์เพราะเป็นวิชาที่ช่วยเผยความงามของธรรมชาติ ช่วยทำให้สิ่งซับซ้อนเป็นสิ่งเรียบง่าย มีรูปแบบ วิชานี้จึงมีความน่าสนใจ วิธีเรียนของผมคือ พยายามๆม่รู้สึกต่อต้านความยากหรือปริมาณที่เยอะของเนื้อหาที่เรียน เรียนอย่างใจเย็น มีสมาธิ เก็บให้ได้ถึงรายละเอียด สำหรับวิชาฟิสิกส์ ควรฝึกคิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง พยายามไม่ถามผู้อื่น หรือเปิดเฉลยในทันที ตั้งคำถามให้ตัวเองบ่อย ๆ เมื่อตอบไม่ได้จริง ๆ จึงไปปรึกษาผู้อื่น แต่ไม่ใช่หวงความรู้ คือ สอนผู้อื่น แต่ไม่ใช่ให้ผู้อื่นคอยบอกตลอด
“อยากให้รัฐบาลทุ่มให้กับโครงการทางวิทยาศาสตร์สักโครงการหนึ่ง อย่างที่ประเทศอื่นมีโครงการอวกาศ โครงการนิวเคลียร์ ฯลฯ แต่ทำให้เหมาะสมกับประเทศไทย โดยโครงการเหล่านี้ จะเป็นแรงจูงใจ ให้คนหันมาสนใจวิทยาศาสตร์ เป็นความใฝ่ฝันของนักเรียนในการเรียนวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการประกอบอาชีพ องค์ความรู้ใหม่ที่จะได้มานั้นล้ำค่ามหาศาลกว่าที่ลงทุนไปมากนัก” น้องโพกล่าวทิ้งท้าย
ก่อนนี้ น้องโพเคยได้เหรียญทองจากการแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกแห่งประเทศไทย ปี 2549 วิชาฟิสิกส์ รางวัลดีเยี่ยม การแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิก สอวน. ครั้งที่ 5 และเหรียญเงิน จากการประกวดวงโยธวาธิต นักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย
ข้อมูลและภาพเพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์ สสวท. www.ipst.ac.th และเว็บไซต์วิชาการดอทคอม www.vcharkarn.com
ข้อมูลและบรรยากาศโดยละเอียดของการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกปีนี้อยู่ที่เว็บไซต์เจ้าภาพ http://www.ipho2007.ir
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ