เลขาธิการ ก.ล.ต. จี้ให้ตลาดเกิดใหม่วางแผนรองรับแบงก์ล้ม ก่อนหน้าที่ปัญหาจะเกิดขึ้นจริง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 15, 2011 11:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--ก.ล.ต. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนานานาชาติของกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) โดยเตือนทางการตลาดเกิดใหม่ มิให้หลงผิดว่ามาตรการที่กำลังมีการพิจารณากันในเวทีโลกต่างๆเช่น Financial Stability Board หรือ G20 จะสามารถป้องกันมิให้ธนาคารล้มได้ นายธีระชัย กล่าวว่า “ตลาดเกิดใหม่ควรคำนึงถึง 3 ปัญหาหลักดังต่อไปนี้ (1) ปัญหา shadow banking หรือความเสี่ยงนอกงบดุล ในวิกฤตครั้งนี้ ทางการในประเทศพัฒนาแล้วได้ละเลยปล่อยให้ธนาคารต่างๆ มีเงินทุนไม่เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากธุรกิจ shadow banking โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicles: SPV) ในเรื่องนี้ สำหรับตลาดเกิดใหม่ ก็มีปัญหาที่คล้ายคลึงกัน เนื่องจากธนาคารมีการนำเอาตราสารและผลิตภัณฑ์การเงินต่างๆ ของบริษัทในเครือ มาขายให้แก่ลูกค้าของธนาคารเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีความเสี่ยงที่ลูกค้าของธนาคารจะเข้าใจผิดว่า ท้ายที่สุดธนาคารจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อตราสารเหล่านี้ ดังเห็นได้จากตัวอย่างในประเทศพัฒนาแล้วว่า เมื่อเกิดวิกฤตขึ้น ธนาคารส่วนใหญ่จะถูกสถานการณ์บีบบังคับให้เข้าไปดูแลลูกค้ามิให้ขาดทุน ดังนั้น ตลาดเกิดใหม่จึงควรพิจารณากำหนดให้ธนาคารต้องมีทุนอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อรองรับตราสารของบริษัทในเครือที่ขายผ่านธนาคาร (2) ปัญหาความเสี่ยงจากยอดหนี้ระหว่างธนาคารด้วยกัน ในตลาดที่พัฒนาแล้วพบว่าธนาคารมีความเสี่ยงจากยอดหนี้ที่พัวพันกันซับซ้อนไปมาเป็นจำนวนที่สูงมาก หนี้ดังกล่าวเกิดจากการซื้อขายอนุพันธ์กันนอกตลาดหลักทรัพย์ และเมื่อธนาคารหนึ่งล้ม ก็จะทำให้การเคลียร์หนี้ทั้งระบบสะดุด ในอนาคต ทุกประเทศจึงควรผลักดันให้ธนาคารเปลี่ยนไปซื้อขายอนุพันธ์กันในตลาดหลักทรัพย์แทน เพราะการรวมศูนย์หักบัญชีจะทำให้ระบบมีความมั่นคงในเรื่องนี้ สำหรับตลาดเกิดใหม่นั้น ธุรกรรมที่สมควรผลักดันให้เข้าไปในตลาดหลักทรัพย์มากที่สุด ก็คืออัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า และควรปรับปรุงสูตรการคำนวณอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง โดยกำหนดน้ำหนักความเสี่ยงสำหรับการซื้อขายอนุพันธ์ที่ยังทำกันนอกตลาดหลักทรัพย์ ให้สูงขึ้นพอเพียงที่จะผลักให้ธุรกรรมดังกล่าวเข้าไปในตลาดหลักทรัพย์ด้วย (3) ใครควรเป็นผู้รับภาระกรณีธนาคารล้ม ในประเทศพัฒนาแล้ว ได้มีการกำหนด มาตรการใหม่ๆ ที่จะไม่ต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้เพื่อการนี้ ตัวอย่างเช่น ธนาคารชาติสวิสกำหนดให้ธนาคารต้องออกพันธบัตรพิเศษ (CoCo bond) ซึ่งในยามปกติก็จะจ่ายดอกเบี้ยแบบหุ้นกู้ แต่เมื่อใดธนาคารประสบปัญหา ทางการสามารถบังคับให้เปลี่ยนพันธบัตรนี้ไปเป็นทุน เพื่อรองรับขาดทุนของธนาคารได้ทันที ส่วนในสหรัฐฯ Dodd-Frank Bill ก็ให้อำนาจรัฐบาลเรียกเงินอุดหนุนพิเศษจากธนาคารที่ไม่ล้ม เพื่อชดเชยภาระที่เกิดขึ้นแก่ทางการจากธนาคารที่ล้ม โดยประชาชนจะไม่ต้องเข้ามารับภาระ ในเรื่องนี้ ตลาดพัฒนาใหม่ควรกำหนดแต่เนิ่นๆ ว่าผู้ใดจะต้องรับภาระจากธนาคารล้ม โดยเฉพาะกรณีบางประเทศที่อาจจะมีความเสี่ยงลักษณะพิเศษ ยกตัวอย่างเช่นประเทศไทย ที่ยินยอมให้ธนาคารสามารถออกและเสนอขายตั๋วแลกเงินให้แก่ลูกค้า ตั๋วแลกเงินเหล่านี้มีเนื้อหาเศรษฐกิจทุกประการเป็นเงินฝาก แต่ธนาคารไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันเงินฝาก ธนาคารจึงมีแนวโน้มที่จะออกตั๋วแลกเงินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จากประสบการณ์ในอดีตนั้น เมื่อใดที่เกิดวิกฤต จะมีแรงกดดันทางการเมืองหรือทางสังคมให้ทางการต้องเข้าไปช่วยธนาคารต่างๆ แทบทุกธนาคาร ดังนั้น ตั๋วแลกเงินเหล่านี้จะกลับเข้ามาเป็นภาระแก่ทางการในที่สุด ทั้งที่ทางการไม่เคยได้รับเบี้ยประกัน สำหรับเรื่องธนาคารล้มนั้น ผมเรียกร้องให้ทางการประเทศพัฒนาใหม่ต้องวางแผนรับมือตั้งแต่บัดนี้ เพราะหากรอให้เกิดปัญหาก่อน ก็เท่ากับตั้งใจจะให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นผู้แบกรับภาระอีกเช่นเคย”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ