กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--สกว.
สกว. และสสว. เดินหน้าหนุนภาคอุตสาหกรรมไทยเต็มที่ ประกาศให้ทุนวิจัยกว่า 300 ล้านบาท เอกชนรายใหญ่เห็นด้วยเดินถูกทาง บริษัทใหญ่หันมาทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยกันมากขึ้น เชื่อมั่นการสร้างความรู้และเทคโนโลยีของตัวเองจะทำให้ธุรกิจเติบโต ไม่ใช่แค่ “อยู่ได้”
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 50 โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดสัมมนาเชิงวิชาการเรื่อง “บทบาทของบัณฑิตศึกษาในการสร้างความเข้มแข็งของการวิจัยในภาคอุตสาหกรรม” เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับแนวทางและมาตรการที่จะทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างบัณฑิตศึกษาและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้ประโยชน์จากการวิจัยระดับบัณฑิตศึกษามากยิ่งขึ้น
นาย ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รมช. กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การที่สกว. มีแนวคิดในการเชื่อมโยงการวิจัยกับภาคอุตสาหกรรมเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่การดำเนินงานต่อไปคงต้องอาศัยภาคอุตสาหกรรม เพราะเสียงของภาคเอกชนมีความสำคัญมาก เห็นได้จากมาตรการแก้ไขเรื่องค่าเงินบาทล้วนเป็นมาตรการที่เอกชนเสนอขึ้นไป นับเป็นมิติใหม่ในการทำงานที่ภาครัฐและเอกชนใกล้ชิดกันมากขึ้น
ศ.ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศอุตสาหกรรมใช้การวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาเป็นกลไกสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคการผลิตและภาคธุรกิจ และเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ “ สกว. เล็งเห็นถึงความสำคัญของกลไกดังกล่าวเช่นกัน ในปีงบประมาณ 2550 นี้ สกว. ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จึงให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี 850 ทุน ระดับปริญญาโท 240 ทุน และระดับปริญญาเอกและหลังปริญญาเอกอีก 60 ทุน โดยกำหนดเงื่อนไขการรับทุนว่า ต้องทำวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาภาคเอกชน ทั้งนี้ สสว. ได้จัดสรรงบประมาณให้เพื่อการนี้ 237 ล้านบาท และสกว. ร่วมสมทบอีก 100 ล้านบาท”
ดร. นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย ผู้อำนวยการ คปก. กล่าวว่า คปก. จะเพิ่มจำนวนบัณฑิตปริญญาเอกในสาขาที่ไทยมีความเข้มแข็งอยู่แล้วให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เช่น วิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือวิทยาศาสตร์อาหาร เพื่อดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาทำงานวิจัยในไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะพัฒนาสาขาที่เรายังอ่อนแอให้เข้มแข็งขึ้น และจะปรับโครงการให้รับกับสถานการณ์ของภาคอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงที่ดี
ดร. กนกรส ผลากรกุล ผู้อำนวยการศูนย์กลางทรัพย์สินทางปัญญา บริษัท ปูนซีเมนต์ไทยอุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจหลักทั้ง 5 ธุรกิจของบริษัทฯ มีแผนกวิจัยและพัฒนาเป็นของตนเอง โดยตั้งอยู่ใกล้กับฝ่ายผลิต เพื่อรับโจทย์จากฝ่ายผลิตโดยตรง ขณะนี้บริษัทฯ มีนักวิจัยระดับปริญญาเอกอยู่ 20 คน ภายใน 6 เดือนนี้จะสรรหาเพิ่มอีก 100 คน กับนักวิจัยปริญญาโทอีก 150 - 200 คน ใน 5 ปีข้างหน้าบุคลากรทีม R&D จะเพิ่มขึ้นเป็น 400 คน “เราวางกลยุทธ์ที่จะมุ่งลงทุนในต่างประเทศ และเชื่อว่า การจะทำอย่างนั้นได้ เราจะต้องมีฐานความรู้ด้านเทคโนโลยี (technology platform) เป็นของตนเอง” ดร. กนกรส กล่าว
ดร. กนกรสกล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯ มีโครงการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง แต่นักวิจัยในมหาวิทยาลัยกับธุรกิจมักมีธรรมชาติที่ต่างกันหลายอย่าง เช่น นักวิจัยค้นคว้าในเชิงลึก และยืดหยุ่นเรื่องเวลา แต่นักธุรกิจจะต้องการเห็นผลเร็ว และมีกำหนดเวลาการทำงานที่ชัดเจน เป็นต้น ซึ่งถ้าปรับให้ตรงกันได้จะเป็นการดี
ดร. สิรี ชัยเสรี คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยเริ่มหันมาทำวิจัยกันมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี ปัจจุบันคณะฯ มีผู้ที่ทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมมาเรียนนอกเวลา ทำให้สามารถนำผลการวิจัยไปพัฒนาอุตสาหกรรมได้โดยตรง สอดคล้องกับความเห็นของ ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. ซึ่งกล่าวว่า การวิจัยให้ได้ผล ภาคอุตสาหกรรมต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับนักวิจัยตั้งแต่ต้น อย่างนักศึกษาที่รับทุนวิจัยจากสกว. ก็รับโจทย์วิจัยมาจากโรงงานโดยตรง ทำได้เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม