คาเธ่ย์ แปซิฟิค ประกาศผลประกอบการปี 2553

ข่าวท่องเที่ยว Tuesday March 15, 2011 15:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน Results 2010 2009 เปลี่ยนแปลง รายได้ ล้านเหรียญฮ่องกง 89,524 66,978 +33.7% ผลกำไรของคาเธ่ย์ แปซิฟิค ล้านเหรียญฮ่องกง 14,048 4,694 +199.3% กำไรต่อหุ้น เซ็นต์ฮ่องกง 357.1 119.3 +199.3% เงินปันผลต่อหุ้น เซ็นต์ฮ่องกง 111.0 10.0 +1,010.0% คาเธ่ย์ แปซิฟิค กรุ๊ป แถลงผลกำไรประจำปี 2553 มูลค่า 14,048 ล้านเหรียญฮ่องกง เทียบกับผลกำไร 4,694ล้านเหรียญฮ่องกงในปีก่อนหน้า รายได้ในปี 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.7 อยู่ที่ 89,524 ล้านเหรียญฮ่องกง ในขณะที่กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 199.3 ทำให้หุ้นของบริษัทมีมูลค่า 357.1 เซ็นต์ ธุรกิจของคาเธ่ย์ แปซิฟิค กรุ๊ป เริ่มจะมีการฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ซึ่งมีผลต่อเนื่องจนถึงปี 2553 การดำเนินธุรกิจทั้งจากการให้บริการผู้โดยสารและการขนส่งสินค้ามีผลลัพธ์ที่ดี มีจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมาก นอกจากนั้น สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค ยังได้รับประโยชน์จากผลกำไรของสายการบินแอร์ไชน่า ซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับ คาเธ่ย์ แปซิฟิค (มีกำไร 2,482 ล้านเหรียญฮ่องกง ในปี 2553) และจากกำไรรวมมูลค่า 2,165 ล้านเหรียญฮ่องกงเป็นผลกำไรจากการขายหุ้นใน บริษัท ฮ่องกง คาร์โก เทอร์มินัล จำกัด (Hong Kong Air Cargo Terminals Limited หรือ Hactl) และ บริษัท ฮ่องกง แอร์คราฟท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (Hong Kong Aircraft Engineering Company Limited หรือ HEACO) รวมทั้งเป็นผลมาจากการคาดการณ์ถึงผลกำไรมูลค่า 868 ล้านเหรียญฮ่องกงที่จะได้จากหุ้นใน แอร์ไชน่าอีกด้วย ในการแถลงผลประกอบการสำหรับปี 2553 ครั้งนี้ คาเธ่ย์ แปซิฟิค ได้ยืนยันว่าพนักงานที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดจะได้รับส่วนแบ่งจากกำไรในรูปแบบของเงินปันผลพิเศษมูลค่าเท่ากับเงินเดือนจำนวน 5 สัปดาห์ พร้อมกับเงินปันผลเพิ่มเติมมูลค่าไม่เกิน 6,000 เหรียญฮ่องกง หรือมูลค่าเทียบเท่ากับเงินเดือนของพนักงานจำนวนครึ่งเดือน ภายใต้การจัดสรรผลกำไรให้กับพนักงานครั้งนี้จะมีพนักงานกว่าร้อยละ 60 ได้รับส่วนแบ่งกำไรเทียบเท่ากับเงินเดือนมากกว่า 6 สัปดาห์ ซึ่งในเดือนสิงหาคมบริษัทได้แจกจ่ายเงินปันผลพิเศษจำนวนเท่ากับรายได้จำนวน 2 สัปดาห์นี้ให้แก่พนักงานแล้ว และในเดือนธันวาคมได้มีการจ่ายส่วนแบ่งกำไรเพิ่มเติมในรูปแบบของเงินเดือนในเดือนที่ 13 ให้แก่พนักงาน สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค และดรากอนแอร์ มีผู้โดยสารทั้งหมด 26.8 ล้านคนในปี 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 จากปี 2552 ปริมาณผู้โดยสาร (Load Factor) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนผู้โดยสารในชั้นประหยัดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีลูกค้าที่ต้องการในการเดินทางในชั้นธุรกิจและเฟิร์สคลาสเพิ่มขึ้นเช่นกัน ในส่วนของรายได้จากผู้โดยสารนั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.3 เป็น 59,354 ล้านเหรียญฮ่องกง ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.8 เป็น 61.2 เซ็นต์ โดยผู้โดยสารมีจำนวนเพิ่มขึ้นในเกือบทุกภูมิภาค และเป็นการเดินทางของผู้โดยสารในกลุ่มพรีเมี่ยม ทำให้สายการบินมีรายได้ต่อที่นั่งเพิ่มขึ้นตามมา นอกจากนั้นจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เมื่อมีการให้บริการเพิ่มขึ้นจากเที่ยวบินที่เคยลดจำนวนลง หรือเลื่อนการเปิดให้บริการออกไปในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว รวมทั้งยังมีการเพิ่มเส้นทางบินใหม่อีกด้วย รายได้จากการขนส่งสินค้าของคาเธ่ย์ แปซิฟิค กรุ๊ป เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.1 อยู่ที่ 25,901 ล้านเหรียญฮ่องกง โดยปริมาณการขนส่งทางอากาศของสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค และดรากอนแอร์เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.1 อยู่ที่ 1,800,000 ตัน ระวางของการบรรจุสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 เนื่องจากบริการขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ในขณะที่มีการให้บริการขนส่งเพิ่มขึ้น ความต้องการในการใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน ทำให้ปริมาณผู้ใช้บริการเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 อยู่ที่ร้อยละ 75.7 ผู้ใช้บริการธุรกิจขนส่งสินค้าของคาเธ่ย์ แปซิฟิค กรุ๊ป ในตลาดหลักทั้งหมดเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการใช้บริการสูงระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน จนทำให้มีผลตอบแทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.3 อยู่ที่ 2.33 เหรียญฮ่องกง อย่างไรก็ตาม น้ำมันยังคงเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุดของ คาเธ่ย์ แปซิฟิค กรุ๊ป โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.6 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมาค่าน้ำมันได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีราคาเฉลี่ยสูงกว่าราคาในปี 2552 ถึงร้อยละ 28 ค่าใช้จ่ายของน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในปี 2553 นั้น (เมื่อตัดผลกระทบจากการทำสัญญาซื้อน้ำมันล่วงหน้าออกแล้ว) เป็นผลมาจากราคาที่เพิ่มสูงขึ้นและการให้บริการที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40.4 การบริหารความเสี่ยงในด้านการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันนั้นเป็นความท้าทายหลักของบริษัท โดยในปี 2553 คาเธ่ย์ แปซิฟิค กรุ๊ป ขาดทุน 41 ล้านเหรียญฮ่องกงจากการทำสัญญาซื้อน้ำมันล่วงหน้า ในขณะที่ได้มีการคาดการณ์ถึงกำไรมูลค่าประมาณ 1 พันล้านเหรียญฮ่องกง ซึ่งได้รวมอยู่ในกองทุนสำรอง โดยกำไรส่วนนี้จะขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน และจะนำมาคำนวณรวมกับกำไรและขาดทุนในปี 2554 และ 2555 เมื่อได้มีการทำสัญญาเสร็จสมบูรณ์ สภาวะการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้นของคาเธ่ย์ แปซิฟิค กรุ๊ปทำบัญชีงบดุลดีขึ้นด้วย สถานะทางการเงินของบริษัทมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ทำให้สามารถขยายขนาดขององค์กร และจะส่งผลให้บริษัทสามารถเสริมภาพลักษณ์ของฮ่องกงให้เป็นศูนย์กลางการบินนานาชาติ ให้โดดเด่นยิ่งขึ้น นอกจากนั้นคาเธ่ย์ แปซิฟิค กรุ๊ป ยังคงมุ่งมั่นที่จะลงทุนในเครื่องบินที่มีความทันสมัยและประหยัดน้ำมันมากขึ้น โดยในปี 2553 บริษัทได้รับมอบเครื่องบินใหม่จำนวน 7 ลำ และในเดือนสิงหาคม 2553 บริษัทก็ได้ประกาศถึงการสั่งซื้อเครื่องบินครั้งใหญ่ที่สุด ประกอบด้วย เครื่องบินรุ่นแอร์บัส A350-900 จำนวน 30 ลำ (ซึ่งจะทำการส่งมอบระหว่างปี 2559 — 2562) และเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 777-300ER จำนวน 6 ลำ ต่อมาในเดือนธันวาคม 2553 บริษัทได้มีการสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส A330-900 เพิ่มอีก 2 ลำ และในเดือนมีนาคม 2554 คาเธ่ย์ แปซิฟิค ได้มีการสั่งซื้อ เครื่องบินแอร์บัส A330-300 เพิ่มอีก 15 ลำและเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 777-300ER จำนวน 10 ลำ นอกจากนั้นบริษัทยังอยู่ในช่วงเจรจาเพื่อซื้อเครื่องบินเพิ่มอีก 14 ลำ อย่างไรก็ตามการส่งมอบเครื่องบินขนส่งสินค้ารุ่น โบอิ้ง 747-8F จะมีการล่าช้าออกไป โดยจะคาดว่าจะเริ่มจัดส่งได้ในเดือนสิงหาคม 2554 ในปี 2553 คาเธ่ย์ แปซิฟิค ได้เปิดให้บริการเที่ยวบินเส้นทางใหม่ไปยังมิลานและมอสโคว พร้อมทั้งเพิ่มการให้บริการไปยังท่าอากาศยานฮาเนดะ และในปี 2554 จะมีการเริ่มให้บริการในเส้นทางสู่อาบูดาบีในเดือนมิถุนายน และชิคาโกในเดือนกันยายนอีกด้วย นอกจากนั้นบริษัทยังมีการเพิ่มเส้นทางให้บริการอีก 22 เส้นทาง ในรูปแบบความร่วมมือกับสายการบินในอเมริกากลาง ลาตินอเมริกา สหรัฐอเมริกา แคนนาดา และญี่ปุ่น เพื่อทำโค้ดแชร์อีกด้วย สำหรับสายการบินดรากอนแอร์ ซึ่งได้มีการเพิ่มการให้บริการสู่หงเฉียว ในเซี่ยงไฮ้ รวมทั้งมีการให้บริการในเที่ยวบินสู่ฟุกุโอกะและเซ็นไดตามปกติ และเพิ่มเส้นทางบินสู่โอกินาวาในเครือข่ายอีกด้วย ในเดือนธันวาคม 2553 คาเธ่ย์ แปซิฟิค ได้ประกาศเปิดตัวที่นั่งสำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจรุ่นใหม่ที่จะนำมาใช้ในเที่ยวบินระยะไกล และบริษัทได้มีการเปิดตัวห้องพักรับรองผู้โดยสารในชั้นธุรกิจและเฟิร์สคลาสแห่งใหม่ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกง ที่มีชื่อว่า เดอะเคบิน รวมทั้งเรายังได้เริ่มปรับปรุงห้องพักผู้โดยสาร เดอะวิง ที่มีชื่อเสียงอีกด้วย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของจีนได้อนุมัติการทำสัญญาระหว่างบริษัทกับ แอร์ ไชน่า เพื่อจัดตั้งสายการบินเพื่อขนส่งสินค้าร่วมกัน โดยทั้งสองสายการบินอยู่ในขั้นตอนการเตรียมเอกสารที่สำคัญต่างๆ เพื่อให้เริ่มให้บริการได้ โดยหุ้นส่วนของ แอร์ ไชน่า ที่มีชื่อว่าแอร์ ไชน่า คาร์โก้ จะเป็นผู้ให้บริการในการร่วมมือครั้งนี้ แอร์ ไชน่า คาร์โก้ประจำอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่ดีสำหรับบริการขนส่งสินค้าในดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี คาเธ่ย์ แปซิฟิค กรุ๊ป กำลังเจรจาขายเครื่องบินขนส่งสินค้ารุ่น โบอิ้ง 747-400BCF จำนวน 4 ลำ และเครื่องจักรสำรอง 2 ชุดสำหรับการร่วมมือครั้งนี้อีกด้วย โดยบริษัทได้ขายเครื่องบินให้แก่แอร์ ไชน่า คาร์โก้แล้ว 1 ลำ เครื่องบินอีก 3 ลำ คาดว่าจะดำเนินการขายในช่วงปี 2554 และ 2555 บริษัทยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกงให้เป็นศูนย์กลางการบินระดับนานาชาติต่อไป การสร้างเทอมินัลสำหรับขนส่งสินค้าของสายการบินเอง ณ ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกงก็อยู่ในช่วงการดำเนินงานที่เป็นไปตามแผนที่วางไว้อีกด้วย เทอมินัลสำหรับสินค้าแห่งนี้จะเปิดให้บริการในปี 2556 และจะเป็นเทอมินัลสำหรับขนส่งสินค้าที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในระดับโลกแห่งหนึ่ง นายคริสโตเฟอร์ แพรทท์ ประธานของคาเธ่ย์ แปซิฟิค กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของธุรกิจเรา จากช่วงชะลอตัวในปี 2551 และ 2552 มาจนถึงช่วงมีผลการดำเนินการที่ดีมากในช่วงปี 2553 เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะแสดงให้เห็นว่าด้วยสภาพอุตสาหกรรมที่มีการเปลียนแปลงอยู่เสมอ เราต้องไม่นิ่งนอนใจ เพื่อป้องกันไม่ให้การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นสร้างกระทบกับการดำเนินธุรกิจของเรา และเราจะสามารถสร้างผลการดำเนินการที่ดีได้อย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจดีขึ้น ความต้องการจากผู้โดยสารในขณะนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2554 อย่างไรก็ตามการคาดการณ์นี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงโดยขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันที่สูงและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน และอาจมีผลกระทบกับเศรษฐกิจทั่วโลกโดยรวม” “บริษัทจะเพิ่มบริการโดยเปิดเส้นทางบินใหม่และเพิ่มความถี่ของเที่ยวบิน ซึ่งถ้าหากความต้องการของผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นตามที่เราคาดไว้ รายได้ของบริษัทก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ราคาน้ำมันในปัจจุบันสูงกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปี 2554 และค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งค่าใช้จ่ายในบางส่วนนี้เพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่ารายได้ของบริษัทเสียอีก เมื่อคำนึงถึงราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นและจะมีผลกระทบต่อกำไรของบริษัทอย่างมากในกรณีที่ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่สามารถชดเชยด้วยภาษีน้ำมันที่บริษัทต้องเก็บเพิ่มสูงขึ้น หรือในกรณีที่สามารถชดเชยได้ผลกระทบที่อาจตามมาคือจำนวนผู้โดยสารที่อาจลดลงเป็นจำนวนมาก” “แม้ธุรกิจสายการบินจะมีความท้าทายและยากต่อการคาดเดา แต่บริษัทก็จะยังคงมุ่งมั่นต่อไปในการบริหารด้านการเงินอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และจะพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด โดยที่ผ่านมาในปี 2553 มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ดีๆ เกิดขึ้นมากมาย ดังนั้น ผมจึงเชื่อมั่นว่า จากปัจจัยทั้งหลายดังที่กล่าวมา เมื่อผนวกเข้ากับจุดแข็งของบริษัท ที่ประกอบด้วยพนักงานที่มีความสามารถ ความมุ่งมั่น เครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง การให้บริการและสินค้าของเราที่คุณภาพเป็นเลิศ รวมทั้งความสัมพันธ์ที่ดีกับแอร์ ไชน่า และสถานะของบริษัทในฮ่องกงซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการบินระดับโลกที่ใหญ่ที่สุด โดยเป็นประตูสู่ประเทศจีน จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับความสำเร็จของ ่ คาเธ่ย์ แปซิฟิค กรุ๊ป ต่อไป” สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ สายวรุณ ถิรนันท์รุ่งเรือง บริษัท ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ประเทศไทย โทร: 0-2627-3501 ต่อ 213
แท็ก ฮ่องกง   ปันผล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ