กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--ก.พลังงาน
กระทรวงพลังงาน เตรียมเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนในเดือน เม.ย. 50 ตั้งเป้าให้การสนับสนุนขายไฟฟ้าเข้าระบบอีก 350 เมกะวัตต์ และกำหนดเป้าหมายเพิ่ม VSPP พลังงานหมุนเวียนเป็น 300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2550
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่อง “การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP)” ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ้นเซส กรุงเทพฯ ว่า กระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจาก SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนและผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้ระบบผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน หรือระบบ Cogeneration ตั้งเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ทุกประเภทเชื้อเพลิง ในปัจจุบันที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วประมาณ 2,384 เมกะวัตต์ ให้เพิ่มเป็น 4,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2555-2563 หรือเพิ่มขึ้นอีก 1,700 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แนวทางหนึ่งของการส่งเสริม คือ ในเดือนเมษายน 2550 กระทรวงฯ จะเปิดประมูล (Bid) ราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้า SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน โดยให้เงินสนับสนุนสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าที่ยื่นขอรับส่วนเพิ่ม (Adder) ราคารับซื้อไฟฟ้าในอัตราต่ำสุดก่อน หากใช้เชื้อเพลิงจากขยะกำหนดให้อัตราสูงสุดไม่เกิน 2.50 บาทต่อหน่วย แต่หากเป็นเชื้อเพลิงประเภทอื่น เช่น เศษไม้ แกลบ จะให้ส่วนเพิ่มไม่เกิน 30 สตางค์ต่อหน่วย โดยการเปิดประมูลครั้งนี้ตั้งเป้าหมายสนับสนุนการขายไฟฟ้าเข้าระบบอีก 350 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากที่ใช้พลังงานหมุนเวียน (VSPP) โดยให้ส่วนเพิ่ม (Adder) ราคารับซื้อไฟฟ้าพิเศษส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากหลากหลายประเภท กำหนดเป้าหมายขายไฟฟ้าเข้าระบบเพิ่มประมาณ 300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2550 ขณะนี้มี VSPP ที่ยื่นข้อเสนอมาแล้วจำนวน 33 โครงการ ปริมาณเสนอขายไฟฟ้าเข้าระบบจำนวน 163 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการแกลบ 11 โครงการ กากอ้อย 7 โครงการ เศษไม้/เศษวัสดุ/ไม้สับ/ขี้เลื่อย 5 โครงการ แสงอาทิตย์ 2 โครงการ ถ่านหิน 2 โครงการ อื่น ๆ อีก 6 โครงการ ได้แก่ ทะลายปาล์ม น้ำเสีย ซังข้าวโพด และขยะ
“กระทรวงพลังงาน มุ่งหวังให้มีการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะการนำเศษวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือแม้แต่การผลิตพลังงานทดแทนน้ำมัน ซึ่งในหลายพื้นที่ยังมีศักยภาพอีกจำนวนมาก โดยเป็นการพัฒนาแหล่งพลังงานของชุมชนให้เกิดขึ้น สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน พัฒนาความเป็นอยู่ และอาชีพให้แก่คนในชุมชนมากขึ้น ควบคู่กับให้มีการจัดการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อให้อยู่ร่วมกับชุมชนร่วมกัน” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว