กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--ไอบีเอ็ม
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เผยบทสรุปผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคลทั่วโลกประจำปี 2553 ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBM Institute for Business Value) ภายใต้ชื่อ “การทำงานข้ามพรมแดน” (Working Beyond Borders) ระบุว่าองค์กรต่างๆ พยายามที่จะพัฒนาและจัดหาบุคลากรในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลก จากการสำรวจความคิดเห็นของประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (Chief Human Resource Officer - CHRO) และผู้บริหารระดับสูงกว่า 700 คนจาก 61 ประเทศ และ 31 เขตอุตสาหกรรมทั่วโลก ผลการศึกษาดังกล่าวสรุปว่าบริษัทต่างๆ ในตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว พยายามที่จะขยายธุรกิจให้ครอบคลุมทั่วโลก จึงต้องสรรหาบุคลากร และส่งเสริมผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพและมีความคล่องตัวสูง เพื่อตอบสนองแนวโน้มความต้องการบุคลากรเพื่อทำงานข้ามพรมแดนในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า
ไอบีเอ็มได้จัดทำผลสำรวจในกลุ่มผู้บริหารระดับสูง (C-Suite) มาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดได้จัดทำผลสำรวจในกลุ่มของ CHRO ซึ่งสะท้อนผลลัพธ์สำคัญที่เป็นประโยชน์อย่างมากในวงการบริหารงานบุคคล โดยพบว่าองค์กรต่างๆมีการลงทุนด้านบุคลากรเพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดที่กำลังพัฒนา เช่น จีนและอินเดีย เนื่องจากต้องเพิ่มโอกาสทางการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ จึงจำเป็นต้องผลักดันการลงทุนบุคลากรในอนาคต
สืบเนื่องจากเมื่อ 2 — 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก ทำให้ธุรกิจต่างๆ เริ่มดำเนินการอย่างระมัดระวัง และมุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพของการปฏิบัติการ (Operational efficiency) แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่สภาวะฟื้นตัว ผู้นำในส่วนของการจัดการทรัพยากรบุคคลในปัจจุบัน ต่างมุ่งเน้นไปที่การสร้างการเติบโตขององค์กร (Drive growth) แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงต้องเน้นที่ประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจต่อไป ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวในยุคโลกาภิวัฒน์ ที่ซึ่งตลาดแรงงานเปลี่ยนเป็นโลกที่ไร้พรมแดนนั้น ต้องเตรียมพร้อม เพื่อการพัฒนาบุคลากร รวมถึงการเคลื่อนย้ายบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “สำหรับประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน เราจะเห็นว่าโลกของตลาดแรงงานที่ไร้พรมแดนจะกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวยิ่งกว่าครั้งใดที่ผ่านมาอันเป็นผลจากอาเซียน 2015 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ปัจจัยผลักดันจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีซึ่งจะทำลายอุปสรรคขวางกั้นในเรื่องเวลา ระยะทาง และแม้กระทั่งภาษา ทำให้การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันเป็นไปอย่างไร้พรมแดน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจแล้วยังก่อให้เกิดความท้าทายในเชิงการแข่งขันให้เพิ่มทวีมากขึ้น การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 4 ปีข้างหน้า นอกจากเรื่องของสินค้า ผลิตภัณฑ์ และบริการแล้ว ยังเป็นการเปิดประตูสู่การแข่งขันของตลาดแรงงานในระดับภูมิภาค ในฐานะผู้นำองค์กรทางด้านทรัพยากรบุคคลการจัดการทางด้านทรัพยากรบุคคล จึงจะเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมในการวางกลยุทธ์องค์กรให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
ในการสำรวจครั้งนี้ไอบีเอ้มได้พูดคุยและสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้นำด้านการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลกว่า 707 คน จาก 61 ประเทศทั่วโลก เราพบว่า ผู้นำ HR ต่างเห็นพ้องกันว่าปัจจัยความสำเร็จในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลมี 3 ข้อหลักด้วยกัน
1. การสร้างผู้นำที่สร้างสรรค์ (Cultivating Creative Leaders)
การพัฒนาผู้นำให้เป็นผู้นำที่สร้างสรรค์ สามารถรับมือกับวัฒนธรรมที่แตกต่าง มีรูปแบบการสื่อสารที่หลากหลายและความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนองค์กรให้สอดคล้องกับความต้องการทางธุรกิจได้ทันท่วงที ไอบีเอ็มได้มีการเตรียมพร้อมให้กับผู้นำขององค์กรมาโดยตลอด ตัวอย่างโครงการพัฒนาผู้นำของไอบีเอ็ม เช่น
GET (Global Enablement Team) เป็นโครงการที่นำผู้บริหารระดับสูงของไอบีเอ็มสำนักงานใหญ่เดินทางเข้ามายังประเทศต่างๆ เพื่อถ่ายทอดทักษะและประสพการณ์การบริหารงานระดับสูง การสร้างสรรค์ผู้นำยุคใหม่และการสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานในองค์กรแก่ผู้นำองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจของไอบีเอ็มและผู้บริหารไอบีเอ็มในประเทศนั้นๆ
ESC (Executive Service Corps.) เป็นโครงการที่ผู้บริหารระดับสูงของไอบีเอ็มเข้ามาทำงานร่วมกับชุมชนทั้งภาครัฐและภาคประชาคม (NGO) เพื่อทำความเข้าใจถึงความท้าทายและปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นจริงในชุมชน พร้อมทั้งช่วยจัดสร้างแผนพัฒนาชุมชนที่ตรงกับความต้องการจริงๆ เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผลในอนาคตไอบีเอ็ม ประเทศไทย จะดำเนินการจัดทำโครงการทั้งสองภายในปีนี้
2. การจัดสรรและเคลื่อนย้ายบุคลากรด้วยความยืดหยุ่นและรวดเร็ว (Mobilizing for Speed and Flexibility)
องค์กรต้องสามารถจัดสรรเคลื่อนย้ายบุคลากรจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งที่และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ไอบีเอ็มประสพความสำเร็จในการนำโมเดลทางธุรกิจที่เรียกว่า (Globally Integrated Enterprise) หรือ GIE มาใช้ GIE เป็นการดำเนินธุรกิจโดยมองโลกเป็นผืนเดียวกัน มีการเลือกใช้ทรัพยากรที่มีทักษะความเชี่ยวชาญในงานที่เหมือนกันจากส่วนต่างๆของโลกมารวมเป็นศูนย์กลางของทักษะของงานนั้น หรือ Center of Competency โดย Center of Competency จะเป็นศูนย์บริการเฉพาะด้านที่มีความเชี่ยวชาญและสามารถให้บริการกับไอบีเอ็มประเทศต่างทั่วโลกรวมไปถึงลูกค้าที่มีความต้องการใช้บริการนั้นๆ ปรากฏการณ์ของโมเดลการทำธุรกิจแบบ GIE ทำให้ไอบีเอ็มสามารถลดค่าใช้จ่ายและการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และสามารถนำเงินที่เหลือนั้นไปลงทุนในส่วนของงานหลักของธุรกิจ เพื่อสร้างความเจริญเติบโตให้กับธุรกิจในอนาคตต่อไป
3. การประยุกต์ใช้นวัตกรรมเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์อันสูงสุด (Capitalizing on Collective Intelligence)
การเรียนรู้และการเข้าถึงแหล่งองค์ความรู้ในองค์กรจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาบุคลากร เช่นเดียวกับการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเพื่อเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถ่ายทอดความรู้ สร้างการเชื่อมโยงข้อมูลอัจฉริยะในองค์กร ให้บุคลากรและหน่วยงานต่างๆ ภายในองค์กร รวมไปถึงลูกค้าและบุคคลภายนอกสามารถนำข้อมูลความรู้มาเพื่อการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ยกตัวอย่างเช่น การนำเครื่องมือทางด้าน Social Business เข้ามาช่วย จัดการให้เป็นแหล่งข้อมูลเพื่อให้พนักงานได้เรียนรู้ เช่น วิกิ LotusConnection หรือ w3 Intranet เป็นต้น
นางพรรณสิรี ได้กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า “ผลการสำรวจ CHRO Study ครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่าองค์กรที่จะประสพความสำเร็จต้องมีการเตรียมบุคลากรให้พร้อมกับการทำงานแบบไร้พรมแดน มีการลงทุนในการพัฒนาทักษะผู้นำองค์กร มีการนำเทคโนโลยีมาสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์เชื่อมโยงการสื่อสารภายในองค์กร และเลือกใช้เครื่องมือด้านวิเคราะห์ข้อมูล (Business Analytic) เพื่อให้สามารถนำข้อมูลมาใช้งานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
รายงานฉบับสมบูรณ์ รวมถึงข้อมูลที่พบและกรณีศึกษา มีอยู่ที่: ibm.com/chrostudy
ข้อมูลสำหรับสื่อมวลชนติดต่อ:
ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
จินรี ตัณมณี โทร. 02 273-467 chinnare@th.ibm.com