กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--อพท.
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จุดประกายท่องเที่ยวแนวใหม่ Low Carbon Tourism มุ่งสร้างความตระหนักในการลดการใช้พลังงานนำไปสู่การลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ยังได้ผนึกกำลังมหาวิทยาลัยบูรพา บริษัทอเดลฟี ประเทศเยอรมนี และมูลนิธิใบไม้เขียวในการพัฒนาเครื่องมือการคำนวณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านความร่วมมือและสนับสนุนงานด้านวิชาการ ตลอดจนการถ่ายทอดประสบการณ์จากเยอรมัน โดยการลงพื้นที่หมู่เกาะช้าง จังหวัดตราด เพื่อศึกษาวิจัยตามโครงการการท่องเที่ยวและการปกป้องสภาพภูมิอากาศ พบว่าอัตราการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการท่องเที่ยวสูงถึง 19.74 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ซึ่ง อพท. มุ่งหวังให้ภาคีที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการและวางแผนให้ “หมู่เกาะช้างและจังหวัดตราด” เป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีการบริหาร จัดการการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศอย่างบูรณาการเป็นแห่งแรกในประเทศไทย
พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า จากการศึกษาวัดร่องรอยการใช้คาร์บอนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ หมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง จังหวัดตราด พบว่ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 47,835 ตัน/ปี จากการเก็บข้อมูลในหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยงพบว่า ปัญหาหลักอยู่ที่กลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร และเรือเฟอร์รี่ ดังนั้น จึงนำไปสู่การคิดคิดค้นและพัฒนาเครื่องมือการคำนวณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยประสานความร่วมมือกับมูลนิธิใบไม้เขียว โดยเครื่องมือดังกล่าวเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถคำนวณปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยใช้ข้อมูลปริมาณการใช้ไฟฟ้า ปริมาณขยะ น้ำมัน และแก๊สฯลฯ ภายในโรงแรม ซึ่งจะทำให้ทราบว่า โรงแรมเหล่านั้น ในช่วงเวลาหนึ่งคืนจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณเท่าไหร่ และสูญเสียค่าใช้จ่ายส่วนเกินไปจากสาเหตุใดบ้างซึ่งอาจหามาตรการลดค่าใช้จ่าย ตลอดจนเป็นจุดขายและประชาสัมพันธ์ด้านการตลาดสีเขียวให้กับผู้ประกอบการ เพื่อหรือสร้างสรรค์กิจกรรมท่องเที่ยวแนวใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไว้รองรับนักท่องเที่ยว เช่น กิจกรรมปลูกต้นไม้ยืนต้นร่วมกับนักท่องเที่ยว
“ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการที่ผ่านมา อพท. และ GIZ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยในขณะนี้อยู่ในกระบวนการปรับปรุงให้โปรแกรมดังกล่าวมีความสมบูรณ์มากที่สุดและการนำไปใช้งานอย่างสะดวกและง่ายดาย สิ่งที่มุ่งหวังก็คือ ผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยการนำโปรแกรมดังกล่าวไปใช้อย่างจริงจังกับสถานประกอบการในจังหวัดตราดอันเป็นพื้นที่นำร่อง และเป็นพื้นที่ต้นแบบที่ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจ และทราบแนวทางปฏิบัติว่าจะสามารถพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับ สิ่งเเวดล้อมต่อไปได้อย่างไร ซึ่งก็หวังว่าผู้ประกอบการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะนำเอาสิ่งนี้ไปต่อยอดให้เป็นรูปธรรม โดยในอนาคตทางมูลนิธิใบไม้เขียวอาจนำโปรแกรมคำนวณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจการโรงแรม ไปผนวกเข้ากับกระบวนการในการออกใบประกาศของมูลนิธิใบไม้เขียว ซึ่งเป็นองค์กรที่หน้าที่ในการออกมาตรฐาน Green Hotel หรือ Climate Friendly Hotel ต่อไป” พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค กล่าว
หลังจากนี้ ผลจากแนวคิดและการดำเนินโครงการดังกล่าวในพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง จังหวัดตราด ภายใต้ความร่วมมือของ อพท. GIZ และมูลนิธิใบไม้เขียว จะถูกนำไปเผยแพร่ต่อสายตาชาวโลก ในงานตลาดการท่องเที่ยวนานาชาติ หรือ ITB Berlin 2011 เดือนมีนาคม ศกนี้ ในฐานะต้นแบบของการท่องเที่ยวแนวใหม่ Low Carbon Tourism ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม
อนึ่ง โครงการปกป้องสภาพภูมิอากาศภาคการท่องเที่ยว นับเป็นหนึ่งในโครงการที่องค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน หรือ อพท. ได้ดำเนินการร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) องค์กรที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมคุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินการ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2552-2554
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่:
งานประชาสัมพันธ์ อพท. โทร.0 2357 3580 ต่อ 401 โทรสาร 0 2357 3599
หรือที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
คุณปัทมา เปรมปรี โทร. 0 2967 7713 — 4