ประธาน ส.อ.ท. ปลื้ม!! แถลงผลการดำเนินงานปี 53

ข่าวทั่วไป Thursday March 17, 2011 14:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--ส.อ.ท. พร้อมเดินหน้าผลักดันภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน ควบคู่การพัฒนาสังคมไทย 17 มี.ค. 54 ที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดแถลงผลการดำเนินงาน ประจำปี 2553 ณ ห้องประชุม ส.อ.ท. 1 โซนซี ชั้น 4 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมประกาศเดินหน้าผลักดันภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืนควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้การนำของ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วาระปี 2553 - 2555 ได้เข้ามาบริหารและวางนโยบายภาคอุตสาหกรรม ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคม ในฐานะองค์กรภาคเอกชน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2553 จนถึงปัจจุบัน โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะเสริมสร้างการพัฒนาศักยภาพภาคอุตสาหกรรม และ SMEs ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างบูรณาการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้เทียบเท่าในระดับสากล และเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในบริบทการค้าของโลก โดยเฉพาะแนวนโยบายการเสริมสร้างกลไกการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้มีความยั่งยืนอยู่ร่วมกับภาคสังคมได้อย่างแท้จริง และในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ยังได้แถลงถึงนโยบายการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมต่อคณะกรรมการ ส.อ.ท. วาระปี 2553 - 2555 ไว้เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นนโยบายการพัฒนา ส.อ.ท.ให้อยู่ร่วมกับสังคมอย่างยั่งยืน โดยได้แบ่งเป็นแนวทางยุทธศาสต์ 6 ยุทธศาสตร์ ครอบคลุมพื้นฐานภาคอุตสาหกรรมในทุกด้าน อันได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาอุตสาหกรรมไทยในแนวทางการสร้างมูลค่า (Value Creation) ด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม พันธกิจและเป้าหมาย : ส่งเสริมด้านงานวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ ของรายอุตสาหกรรม กำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในการสร้างคุณค่า และมูลค่าเพิ่มด้วยการพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม จัดทำระบบฐานข้อมูล (IT Database) อย่างเป็นระบบ รวมทั้งหารือภาครัฐ พันธมิตร ภายในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ในการจัดหาทุนสนับสนุนงานวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาอุตสาหกรรมให้อยู่ร่วมกับสังคมอย่างยั่งยืน พันธกิจและเป้าหมาย : ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดำเนินธุรกิจ โดยยึดหลักบรรษัทภิบาล และสนับสนุนการสร้างโอกาสการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรม และการดำรงอยู่ร่วมกับชุมชน องค์กรส่วนท้องถิ่น ในรูปแบบความร่วมมือเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งรณรงค์ ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมดำเนินธุรกิจอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน เช่น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การควบคุมและลดมลพิษ คำนึงถึงความปลอดภัย และความรับผิดชอบต่อสังคม ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาการดำเนินธุรกิจในรูปแบบคลัสเตอร์และซัพพลายเชน พันธกิจและเป้าหมาย : พัฒนาการดำเนินธุรกิจแบบคลัสเตอร์ ให้กลุ่มอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีการดำเนินการร่วมกัน จัดทำเป็นแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ร่วมแสวงหาโอกาส เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต ระหว่างการเกษตร อุตสาหกรรม บริการ การท่องเที่ยว และการศึกษา โดยสร้างความร่วมมือให้เกิดมูลค่าเพิ่มต่อกัน และสามารถแข่งขันได้ ในระดับภูมิภาคและระดับสากล ยุทธศาสตร์ที่ 4 มาตรการเชิงรุกในเวทีโลกหลังเปิด FTA พันธกิจและเป้าหมาย : ส่งเสริมแนวทางสนับสนุนการส่งออก ทางด้านสิทธิประโยชน์ โครงสร้างภาษี ข้อกำหนดต่างๆ ให้เอื้อกับการแข่งขันในตลาดโลก จากการกีดกันทางการค้าจากประเทศผู้นำเข้าของ แต่ละอุตสาหกรรม พร้อมมาตรการเชิงรุกในการใช้ประโยชน์จาก FTA ยุทธศาสตร์ที่ 5 การสนับสนุนปัจจัยเอื้อต่อการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม พันธกิจและเป้าหมาย : มุ่งให้เกิดความเชื่อมต่อระหว่างผู้ประกอบการต้นน้ำถึงปลายน้ำ ในการแสวงหาการทำธุรกิจร่วมกัน และส่งเสริมให้บริโภคสินค้าที่ผลิตจาก SMEs เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มโดยรวมของผลิตภัณฑ์ ในประเทศ และผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างสนับสนุนปัจจัยเอื้อในการประกอบธุรกิจในด้านต่างๆ ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สู่ความยั่งยืนของอุตสาหกรรม พันธกิจและเป้าหมาย : มุ่งมั่นสร้างขวัญกำลังใจ การทำงานเป็นทีม มุ่งมั่นต่อความสำเร็จ พัฒนาความรู้และทักษะของบุคลากร ส.อ.ท. อย่างต่อเนื่อง และพัฒนายกระดับคุณภาพบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมพร้อมทั้งปรับโครงสร้างการทำงานเพื่อให้ภารกิจที่ดำเนินการมีความเด่นชัด มีผู้รับผิดชอบงานที่ชัดเจนให้บรรลุตามเป้าหมาย เปิดโอกาสให้สมาชิกที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมทำงานเป็นทีม ทั้งในระดับกลุ่ม ระดับจังหวัด สร้างความเข้มแข็งให้กับพนักงงานของภาคอุตสาหกรรมในด้านอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เดือน เมษายน — ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา รวมระยะเวลา 9 เดือน คณะกรรมการ ส.อ.ท. ได้ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ทั้ง 6 ข้อ เพื่อให้เกิดการบริหารอุตสาหกรรมอย่างบูรณาการ โดยให้ความสำคัญในการแก้ไขและบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่มีต่อผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และประชาชน อาทิเช่น การสร้างรายได้แก่ผู้ว่างงานภาคอุตสาหกรรม การช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคเอกชนทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม การจัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมไทย อาทิเช่น โครงการคูปองนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการ การพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมบทบาทภาคเอกชนในตลาดต่างประเทศ การจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ทางธุรกิจจากความร่วมมือเชื่อมโยงเศรษฐกิจและโลจิสติกส์ของประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โครงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ SMEs ภาคการผลิต เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษา SMEs การพัฒนาระบบการให้บริการด้านเอกสารทางการค้า เชื่อมโยงระบบ National Single Window (NSW) ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ การพัฒนาและส่งเสริมการส่งออกและนำเข้า การสร้างระบบเตือนภัยให้กับภาคอุตสาหกรรมผ่านการจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ การจัดทำแผนแม่บทน้ำเพื่ออุตสาหกรรม การขอปรับลดค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพากร การเสนอแก้ไขกฏหมายศุลกากร การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน การพัฒนาทักษะและมาตรฐานฝีมือแรงงาน รวมถึงการพัฒนายกระดับคุณภาพบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ ในช่วงปี 2553 ที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมฯ ยังมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักบรรษัทภิบาล และรณรงค์ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมดำเนินธุรกิจอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน ผ่านการจัดกิจกรรมโครงการต่างๆ อาทิเช่น โครงการห้องสมุดสภาอุตสาหกรรมฯ ซึ่งเป็นโครงการจัดตั้งห้องสมุดสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทยในแต่ละพื้นที่ การพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Manufacturing) การสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน อย่างโครงการบ้านปลาเฉลิมพระเกียรติ และการสนับสนุนแนวทาง CSR ของภาคอุตสาหกรรมโดยการสร้างสังคมรีไซเคิลอย่างยั่งยืน อย่างโครงการ 84 พรรษา 84 ล้านกิโลกรัม ร่วมใจรีไซเคิลเพื่อพ่อ เป็นต้น และยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่สภาอุตสาหกรรมฯ ผลักดันให้เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน และสามารถอยู่ร่วมกับภาคสังคมได้อย่างแท้จริง นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า กิจกรรม หรือโครงการที่ ส.อ.ท. ได้จัดขึ้นในปี 2553 ที่ผ่านมานั้น ถือได้ว่าแต่ละกิจกรรม แต่ละโครงการล้วนเป็นผลงานที่น่าพอใจของ ส.อ.ท. และหน่วยงานสมาชิก ซึ่งในหลายกิจกรรมหรือโครงการอาจมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในปี 2554 หากคณะกรรมการ ส.อ.ท. เห็นร่วมกันว่าเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย “ในปี 2554 นี้ สภาอุตสาหกรรมฯ ยังคงมุ่งมั่นเจตนารมณ์ที่จะผลักดันภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืนคู่สังคมไทย โดยได้กำหนดนโยบายที่จะผลักดันยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ให้เข้ามามีบทบาทและรองรับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยมากขึ้น ผ่านการจัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ ทั้งในรูปแบบกิจกรรมใหม่ และกิจกรรมที่จัดต่อเนื่องจากปี 2553 อาทิเช่น กิจกรรมหรือโครงการที่สร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองให้เข้มแข็งและสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ รวมถึงกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างโครงการห้องสมุดสภาอุตสาหกรรมฯ ที่เรายังคงให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการขยายจำนวนโรงเรียนในการดำเนินโครงการเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดความทั่วถึงกับความต้องการของโรงเรียนที่ขาดแคลนหนังสือในถิ่นทุรกันดาร เป็นต้น” นายพยุงศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โทร. 0-2345-1013 โทรสาร 0-2345-1296-8

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ