กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--สคส.
ในสังคมปัจจุบันแม้หลายฝ่ายจะมองว่าภาพรวมของสถานการณ์เยาวชนไทยกำลังเสื่อมถอย จากสิ่งยั่วยุที่หลั่งไหลมาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัฒน์ อีกทั้งเยาวชนยังตกเป็นเหยือของผู้ใหญ่ในครอบครัวและ ซาตาลในคราบนักธุรกิจ ซึ่งต้องยอมรับว่าข้อมูลดังกล่าวน่ากลัวและน่าตกใจยิ่ง แต่อีกฟากฝั่งหนึ่งของสังคมเล็กๆ ยังมีกลุ่มเยาวชนที่มี “จิตอาสา” รวมกลุ่มกันทำเรื่องดีๆ กระจายอยู่ในสังคมทั่วประเทศไทย บางกลุ่มสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองและเพื่อนพ้อง บางกลุ่มสละเวลาพัฒนาสังคม
และอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ระดับ บ้าน โรงเรียน ชุมชน ตำบล อำเภอและจังหวัด บางกลุ่มร่วมกับผู้ใหญ่พัฒนาอาชีพ บางกลุ่มก็ร่วมกันพัฒนาความเป็นอยู่ด้วยตนเอง
แต่จะทำอย่างไรให้ความดีเหล่านี้ได้ขยายเครือข่ายคนทำดีออกไป สร้างสมาชิก “จิตอาสา” ออกไปให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่
สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) จึงร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ธนาคารไทยพานิช มูลนิธิกองทุนไทย และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก จัดกิจกรรม “เวทีเยาวชนจิตอาสาเพื่อการพัฒนาตนเอง” ขึ้นเมื่อวันที่ 1-3 เมษายน
2550ที่ผ่านมา เพื่อให้กลุ่มเด็กที่ทำงานเพื่อผู้อื่นที่มีอยู่กระจัดกระจายได้มารวมกลุ่มกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน การพัฒนา และการทำดีเพื่อผู้อื่น อีกทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายคนทำดี เพื่อต่อยอดและขยายผลสู่กิจกรรมการพัฒนาร่วมกันต่อไปในอนาคต
ซึ่งในการจัดงานดังกล่าว มีเยาวชนกลุ่มต่างๆ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานจำนวนมาก ประกอบด้วย กลุ่มเยาวชนสร้างสรรค์ จ.สุราษฎร์ กลุ่มเยาวชนรักแม่กลอง กลุ่มเยาวชนตะกอนยม จ.พะเยา กลุ่มรักษ์เขาชะเมา จ.ระยองกลุ่มเยาวชนเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) จ.เชียงใหม่-เชียงราย กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนคลองยางนุสรณ์ จ.สระแก้ว กลุ่มอาสาสมัครเด็กและเยาวชนเพื่อชุมชน ชุมชนวัดดวงแข กทม. กลุ่มอาสาสมัครสานฝันปันรัก กลุ่มเรารักท่าจีน โรงเรียนสองพี่น้องวิทยา จ.สุพรรณ กลุ่มเยาวชนลุ่มน้ำแม่แมะ-แม่นะ จ.เชียงใหม่ กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ทรัพยากรประการังและสิ่งแวดล้อม โรงเรียนประทิววิทยา
จ.ชุมพร และ กลุ่มหนอน้อยรักษาไพร จ.ขอนแก่น ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม(สคส.) เปิดเผยว่า เวทีเยาวชนจิตอาสาฯ เป็นการเปิดกว้างให้เยาวชนที่มีจิตอาสา รวมกลุ่มกันทำงานเพื่อคนอื่นจริงๆ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องราวที่เยาวชนแต่ละกลุ่มได้ทำงานในพื้นที่บ้านเกิดของตนเองเป็นเรื่องที่ทำขึ้นจริงมาเล่าสู่กันฟัง ไม่ได้เอาประสบการณ์จากตำรา มาเล่าหรือประสบการณ์จากครูสอน ทำแล้วเกิดผลอย่างไร ซึ่งวิธีการแบบนี้เรียกว่า เทคนิคการเรียนรู้ร่วมกัน ในกระบวนการการจัดการความรู้ จากการที่กลุ่มเยาวชนต่างคนต่างทำ ก็มาพบวิธีการทำงานแบบอื่นๆ จากเยาวชนกลุ่มอื่นๆ ทำให้เยาวชนเรียนรู้การทำงานการคิดงานและเทคนิคการจัดการความรู้ได้อย่างเป็นธรรมชาติและนำไปปรับใช้ในกลุ่มได้
นางสุวรรณี จันทร์ดำเนินพงศ์ หัวหน้าผู้ประสานงานเครือข่ายโครงการผู้ประสานงานวิชาการ มูลนิธิกองทุนไทย(มกท.) กล่าว่า เวทีนี้เยาวชนได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆจากเพื่อนอาจจะเป็นประสบการณ์เดียวกันแต่กลุ่มอื่นๆ อาจมีวิธีแก้ที่แตกต่างกันออกไปซึ่งจะช่วยให้เด็กๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากเพื่อนๆ
เพราะที่ผ่านมาเยาวชนแต่ละกลุ่มอาจทำงานเดินหน้าไปเรื่อยๆแต่อาจจะไม่ได้นึกย้อนมองดูด้านในของตัวเองซึ่งเวทีนี้จะช่วยให้เยาวชนกลับมาทบทวนการทำงานของตนเองกับการแลกเปลี่ยนกับกลุ่มเพื่อนเยาวชนจิตอาสาเพิ่มมากขึ้น
นางสาวกิติมา ขุนทอง ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำแม่แมะ-แม่นะ จ.เชียงใหม่ เล่าว่าเมื่อครั้งยังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัย เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในกระแสแฟชั่นฟุ่มเฟือย โทรศัพท์ เครื่องสำอาง ซึ่งโดยหลักแล้วพื้นฐานเป็นคนที่อยู่กับชนบทกับป่าเขาในบ้านเกิดตนเอง จึงหันกลับไปมองที่ครอบครัวที่มีพื้นฐานของเกษตรกรตั้งแต่แรก สิ่งที่เรียนทำให้กลับไปเรียนรู้อดีตมากขึ้นวิเคราะห์ตัวเองได้ และสิ่งสำคัญของจุดเปลี่ยน คือการเข้ามาเป็นอาสาสมัครในการพื้นนาท้องถิ่นของตนเองเมื่อต้องทำงานพัฒนาคนอื่นๆ ทำให้หันกลับมามองตัวเองว่าต้องพัฒนาอย่างไรบ้าง เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเองอย่างไร เรียนรู้ชุมชนสังคมผู้คนและวิถีชีวิตและการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง เป็นการเรียนรู้ในตัวเองและปรับพัฒนาตัวเองขึ้นมาเมื่อทำงานแล้ว เราเรียนรู้ที่จะให้คนอื่นมากขึ้นเมื่อเราเรียนรู้ที่จะให้คิดถึงตัวเองน้อยลงให้ใจคนอื่นมากขึ้น
คิดเป็นระบบคิดถึงคนอื่นๆ มากขึ้น คิดว่าตัวเองจะทำอะไรให้กับคนอื่นได้บ้างเปิดใจรับสิ่งต่างๆและเรียนรู้มากขึ้น และเลือกที่จะเรียนรู้กับผู้อื่น ซึ่งในกิจกรรมดังกล่าวเยาวชนจากทุกกลุ่มจะแบ่งกลุ่มกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านอาสาสมัคร หรือ “จิตอาสา” และการทำงานเพื่อผู้อื่น ที่แม้ทำงานเหมือนกันคือทำงานเพื่อผู้อื่น
แต่วิธีการและกระบวนการในแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่าง การเผชิญกับปัญหาที่แตกต่างกัน ระหว่างพื้นที่ เมื่อได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กัน ทำให้เยาวชนได้เรียนรู้วิธีการทำงานใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ กระบวนการใหม่ หรือประเด็นในการทำงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้นจากเดิม หลายคนกล่าวว่า เวทีนี้เป็นเวทีที่ทำให้ได้มองย้อนไปถึงช่วงเวลาที่ตนเองลงมือปฏิบัติจริงในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านเมื่อทำไปแล้วไม่เคยนึกย้อนกลับไปเลยว่า ตนได้เรียนรู้อะไร เพื่อนได้เรียนรู้อะไร เพื่อกำหนดทิศทางในการก้าวต่อไปข้างหน้าร่วมกัน แต่กิจกรรมในครั้งนี้ทำให้ได้แนวทางการทำงานที่น่าจะเป็นประโยชน์อีกทั้งยังได้เครือข่ายเยาวชนที่มีจิตอาสาเหมือนกันในการทำงานระดับประเทศร่วมกันอีกด้วย
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net