กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทของ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” ในขณะเดียวกันยังยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Positive” หรือ “บวก” บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความเป็นผู้นำธุรกิจในฐานะผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ตลอดจนจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แพทย์และผู้บริหารโรงพยาบาลที่มีความสามารถและมากประสบการณ์ รวมทั้งบริการที่มีคุณภาพในระดับสูง ในการพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงเครือข่ายที่แข็งแกร่งของบริษัทภายใต้ชื่อกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลบีเอ็นเอชด้วย อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้ในอนาคตจากการขยายกิจการทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวรที่ค่อนข้างต่ำ การแข่งขันที่มีเพิ่มขึ้นจากผู้ให้บริการธุรกิจเพื่อสุขภาพจากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และความสามารถของบริษัทในการบริหารกิจการโรงพยาบาลที่รวมเข้ามาใหม่ได้อย่างราบรื่น
แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนถึงผลประกอบการและฐานะการเงินของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถควบคุมการบริหารโรงพยาบาลต่าง ๆ ภายใต้สังกัดได้เป็นอย่างดีและนำโรงพยาบาลภายใต้บริษัทเฮลต์ เน็ตเวิร์คเข้ามารวมกลุ่มได้สำเร็จ ในทางตรงกันข้าม หากฐานะการเงินของบริษัทถดถอยลงหรือระดับหนี้สินเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่คาดไว้ก็จะมีผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการก่อตั้งในปี 2512 เพื่อดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนภายใต้ชื่อโรงพยาบาลกรุงเทพ กิจการของบริษัทขยายตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2547 ผ่านการควบรวมกิจการ โดยบริษัทได้ซื้อกิจการของ บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) บริษัท บีเอ็นเอช เมดิคอล เซ็นเตอร์ จำกัด และโรงพยาบาลในจังหวัดที่สำคัญของประเทศไทยหลายแห่งซึ่งเป็นกิจการของ บริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา จำกัด บริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพระยอง จำกัด บริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตจำกัด บริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ จำกัด และ บริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา จำกัด นอกจากนี้ บริษัทยังได้ลงทุนในโรงพยาบาลอีก 2 แห่งในประเทศกัมพูชาด้วย ปัจจุบันบริษัทมีโรงพยาบาลในเครือทั้งหมด 19 แห่ง ด้วยจำนวนเตียงรวมทั้งสิ้น 2,992 เตียง ภายใต้ชื่อโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบีเอ็นเอช และโรงพยาบาลในต่างประเทศภายใต้ชื่อ Royal International Hospital เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553 บริษัทประกาศที่จะรวมกิจการกับ บริษัท เฮลท์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มโรงพยาบาลพญาไทและกลุ่มโรงพยาบาลเปาโล หลังจากการรวมกิจการในครั้งนี้ บริษัทจะมีโรงพยาบาลในสังกัดเพิ่มเป็น 27 แห่ง และมีเตียงบริการผู้ป่วยรวม 4,639 เตียง ทั้งนี้ เนื่องจากโรงพยาบาลภายใต้ตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลพญาไทและเปาโลจะเข้ามารวมในกลุ่มด้วย
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า รายได้จากการดำเนินกิจการโรงพยาบาลของบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการในช่วงปี 2549-2553 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีที่ระดับ 11% โดยในปี 2553 มีรายได้อยู่ที่ 23,513 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9%จากปีก่อนเนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยทั้งชาวไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้น สำหรับจำนวนผู้ป่วยนอกต่อวันในปี 2553 นั้นอยู่ที่ 10,317 คน หรือเติบโต 3.7% จากปี 2552 ในระหว่างปี 2553 จำนวนผู้ป่วยในเพิ่มขึ้น 8% เป็น 1,499 รายต่อวัน อย่างไรก็ตาม จำนวนเฉลี่ยของวันที่ผู้ป่วยในเข้ารับการรักษาลดลงจากประมาณ 3 วันในปี 2552 มาอยู่ที่ 2.9 วันในปี 2553 ในช่วง 5 ปีหลัง รายได้จากผู้ป่วยประมาณ 54%-56% มาจากผู้ป่วยใน และที่เหลือมาจากผู้ป่วยนอก ในด้านสัดส่วนของรายได้นั้น รายได้จากผู้ป่วยต่างชาติคงระดับอยู่ที่ 33%-36% ของรายได้จากผู้ป่วยรวมในช่วงปี 2549 ถึงปี 2553
เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอจากระดับประมาณ 3,000 ล้านบาทในปี 2549 มาอยู่ในระดับที่มากกว่า 4,000 ล้านบาทในปี 2553 โดยเงินทุนจากการดำเนินงานในปี 2553 อยู่ที่ 4,400 ล้านบาท เติบโต 9% จากปี 2552 จากผลของการควบคุม
ต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ สภาพคล่องของบริษัทเมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมปรับตัวดีขึ้นจาก 32.63% ในปี 2552 เป็น 40.67% ในปี 2553 นอกจากนี้ การทำกำไรที่สูงขึ้นและดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงทำให้อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายปรับเพิ่มขึ้นจาก 8.2 เท่าในปี 2552 เป็น 10.1 เท่าในปี 2553 โครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นตามลำดับในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากเงินทุนจากการดำเนินงานแข็งแกร่งขึ้นและค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนลดลงเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2549 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงจากระดับ 54.5% ในปี 2549 มาอยู่ที่ 45.4% ในปี 2552 และ 39.8% ในปี 2553 ภาระหนี้ส่วนใหญ่ของบริษัทอยู่ในสกุลเงินบาทที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ ดังนั้นบริษัทจึงไม่มีความเสี่ยงในด้านอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทค่อนข้างแน่นอนและใกล้เคียงกับผู้ประกอบการรายอื่น โดยอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้รวมคงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 22% ในช่วงระหว่างปี 2549 ถึงปี 2553
หลังการรวมกิจการกับบริษัทเฮลท์ เน็ตเวิร์คเข้ามาแล้วคาดว่าสถานะทางธุรกิจของบริษัทจะแข็งแกร่งขึ้น ในขณะที่อัตราส่วนทางการเงินในส่วนของการทำกำไรไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก คาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้จากการขายจะคงอยู่ที่ระดับเดิมเนื่องจากอัตราการทำกำไรของโรงพยาบาลภายใต้ตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลพญาไทและเปาโลอยู่ในระดับใกล้เคียงกับโรงพยาบาลที่อยู่ในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพอยู่แล้ว สินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ของบริษัทจะทำให้อัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวรมีระดับต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่ง สำหรับอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนนั้นคาดว่าคงไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจากระดับปัจจุบันเนื่องจากการรวมกิจการกับบริษัทเฮลท์ เน็ตเวิร์คกระทำโดยวิธีการแลกหุ้น ดังนั้น จึงคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 50%ทริสเรทติ้งกล่าว