กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--สสวท.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ( สกอ.) ได้ร่วมกันให้ทุนสนับสนุนการทำงานของอาจารย์รุ่นใหม่ในสถาบันอุดมศึกษา และได้คัดเลือกนักวิจัยเพื่อรับรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น สกว. — สกอ. โดยในปี 2549 ดร.อรรุจี เหมือนวงศ์ ได้รางวัลเหรียญทอง
ดร. อรรุจี เหมือนวงศ์ ได้รับทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จน จบได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง หลังจากนั้นได้เรียนจบปริญญาโทและเอก สาขาดาราศาสตร์ จาก University of Sussex สหราชอาณาจักร ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
งานวิจัยของอาจารย์ท่านนี้ ได้ทำการศึกษาคุณสมบัติทางรังสีเอกซ์ของวัตถุในเอกภพที่เรียกว่ากลุ่มกาแลกซี ซึ่งได้จากการจำลองแบบเอกภพในคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง โดย แต่ละแบบจำลองนั้นมีปรากฏการณ์ทางความร้อนภายในที่แตกต่างกัน โดยมุ่งเน้นไปที่การศึกษาวิวัฒนาการของคุณสมบัติต่าง ๆ ทางรังสีเอกซ์ โดยทำงานร่วมกับนักวิจัยที่ปรึกษาคือ Prof. Dr. Peter Thomas จาก University of Sussex และ Dr. Scott Kay จาก University of Oxford ประเทศสหราชอาณาจักร
งานวิจัยชิ้นนี้พบว่าวิวัฒนาการคุณสมบัติของรังสีเอกซ์มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน คุณสมบัติและวิวัฒนาการดังกล่าวนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเชื่อมต่อทฤษฎีพื้นฐานทางเอกภพวิทยาและเอกภพ ในภาคสังเกตการณ์เข้าด้วยกัน
ปัจจุบันมีการสำรวจเอกภพด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีอีกหลายโครงการที่ให้ความสำคัญในการศึกษาวิวัฒนาการของกลุ่มกาแลกซี ผลการสำรวจที่จะเสร็จสิ้นในอนาคตอันใกล้นี้จะได้นำมาตรวจสอบกับผลงานวิจัยชิ้นนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้นักเอกภพวิทยาเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มกาแลกซีในเอกภพของเรา
และผลงานจากการวิจัยชิ้นนี้ของ ดร. อรอรุจี เหมือนวงศ์ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Astrophysical Journal ซึ่งมีค่า Impact Factor 6.308 ซึ่งเป็นวารสารที่มีค่า Impact Factor สูงที่สุดในการตีพิมพ์ของกลุ่มผู้รับทุนจาก สกว.และ สกอ. ประจำปีนี้ด้วย
ดร.อรรุจี กล่าวว่า ที่เลือกเรียนสาขาฟิสิกส์เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากคุณพ่อ ผศ. ดร. ขาว เหมือนวงศ์ ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์และนักดาราศาสตร์ ตอนเป็นเด็กสนใจหลายอย่างมาก ทั้งด้านภาษา วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ แพทย์ และวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อโตขึ้นก็เกิดความชัดเจนมากขึ้นว่าอยากเรียนวิทยาศาสตร์มากที่สุด ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และทำการทดลองง่ายๆที่บ้าน
ดร. อรรุจี เล่าต่อไปว่ายุคก่อนซึ่งมหาวิทยาลัยต่างๆ เพิ่งจะเริ่มจัดตั้ง อาจารย์ส่วนมากต้องทุ่มเทเวลาให้กับการสร้างมหาวิทยาลัยและผลิตบัณฑิต แต่ปัจจุบันทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง อาจารย์ใหม่ ๆ มีโอกาสทำงานวิจัยมากขึ้น จนกลายเป็นเรื่องปกติที่อาจารย์จะต้องทำงานวิจัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะหากได้นำความรู้ใหม่จากการวิจัยไปสอนให้กับนักศึกษาจะเกิดประโยชน์อย่างมาก นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภายนอกรองรับให้เกิดอาชีพนักวิจัยที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งหมดนี้จึงเป็นสัญญาณที่ดีในการพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาติ
ทั้งนี้ เป้าหมายในการทำงานของอาจารย์ท่านนี้คือเป็นอาจารย์ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และการทำงาน วิจัยให้ก้าวหน้าต่อไป เรื่องของรางวัลนั้นไม่ใช่เป้าหมายที่สำคัญ แต่ความภูมิใจที่รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นดีที่สุดแล้วคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตการทำงาน นอกจากนั้นยังมีความตั้งใจที่จะสร้างนักเรียนและนักศึกษาให้มีความสนใจในวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้นเท่าที่กำลังตนเองจะทำได้ และอยากให้นักเรียนนักศึกษาทุกคนได้รับการปลูกฝังให้เป็นทั้งคนเก่ง คนดี และมีความสุข
“การเป็นบัณฑิต พสวท. เป็นความภาคภูมิใจอย่างมาก ทั้งนี้เป็นเพราะสิ่งที่ชาว พสวท.ทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้องช่วยกันสร้างขึ้นมา นั่นก็คือความสำเร็จทางวิชาการของบัณฑิตทุกคนที่ทำให้โครงการนี้เป็นที่ยอมรับจากภายนอกและสังคม” ดร. อรรุจีกล่าวทิ้งท้าย
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net