คณะอนุกรรมธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภาจี้ดำเนินคดีพฤกษาไม่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนสร้างบ้าน

ข่าวทั่วไป Friday March 18, 2011 11:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง คณะอนุกรรมธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภาจี้ดำเนินคดีพฤกษาไม่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนสร้างบ้าน ปล่อยน้ำเสียลงคลองชลประทาน สร้างบ้านขายก่อนได้ใบอนุญาต จี้ตลท. สอบความเป็นธรรมาภิบาล จ่อตามสอบบริษัทอสังหาจดทะเบียนทั้งหมด นางภารดี จงสุขธนามณี สว.เชียงราย และประธานคณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ ครั้งที่ ๗/๒๕๕๔ (วันจันทร์ที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๔) ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนของลูกบ้านกรณีการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของผู้ประกอบการหมู่บ้านจัดสรรในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี บริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) โดยผู้แทนจากกรมที่ดิน ได้ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวสรุปว่า ในส่วนของการขออนุญาตจัดสรรที่ดินของโครงการบ้านพฤกษา บี จำนวนกว่า 3000 หลัง ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีในขณะนั้น ได้อนุญาตจัดสรรที่ดินของโครงการบ้านพฤกษา บี โดยกำหนดเงื่อนไขท้ายหนังสืออนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน (จ.ส.๒) ว่าให้ผู้ขอนำหลักฐานหนังสือเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมามอบให้ ภายในกำหนด ๖ เดือน นับจากวันที่ออกใบอนุญาต และห้ามมิให้จำหน่าย จ่ายโอนที่ดินแปลงย่อยในโครงการไว้ จำนวน ๗๕๓ แปลง (ร้อยละ ๒๐ ของที่ดินแปลงย่อย) จนกว่าจะได้นำหนังสือเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มาแสดง ถือได้ว่าบริษัทพฤกษา บี ได้รับใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน (จ.ส.๒) โดยมิได้ดำเนินการตามความในมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติ ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ดังนี้ “สำหรับโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการ วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นโครงการที่จะต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการตามกฎหมาย ก่อนเริ่มการก่อสร้าง หรือดำเนินการ ให้ผู้ขออนุญาตเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายนั้น และต่อสำนักงานนโยบายและแผน สิ่งแวดล้อม ในการเสนอรายงานดังกล่าวอาจจัดทำเป็นรายงานผลกระทบ สิ่งแวดล้อมเบื้องต้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนด และให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายรอการสั่งอนุญาตสำหรับโครงการหรือกิจการดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่าจะทราบผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม” จึงถือว่าการออกหนังสืออนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน (จ.ส.๒) มิชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่ผู้แทนจากกรมควบคุมมลพิษ ได้ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว สรุปได้ว่า จากการตรวจวัดคุณภาพน้ำและเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งจากหมู่บ้านจัดสรรในเขตคลองสาม จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ จำนวน ๕ แห่ง ได้แก่ โครงการบ้านพฤกษา บี หมู่บ้านพฤกษา ๑๓ หมู่บ้านพฤกษา ๙ โครงการบ้านภัสสร ๑๒ และหมู่บ้านราชพฤกษ์ ๑ จากการตรวจสอบน้ำทิ้งพบว่า หมู่บ้านจัดสรรทั้ง ๕ แห่ง ยังคงมีลักษณะน้ำทิ้งไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด โดยจากการตรวจวัดคุณภาพน้ำพบว่า โครงการบ้านพฤกษา บี มีการปล่อยน้ำทิ้งมีค่าบีโอดี (ความสกปรกในรูปสารอินทรีย์ : Biochemical Oxygen Demand : BOD) ปริมาณ ๔๗.๖ มิลลิกรัมต่อลิตร (Mg/l) หมู่บ้านพฤกษา ๑๓ พบค่าบีโอดี ปริมาณ ๓๙.๖ มิลลิกรัมต่อลิตร (Mg/l) หมู่บ้านพฤกษา ๙ พบค่าบีโอดี ปริมาณ ๓๗.๖ มิลลิกรัมต่อลิตร (Mg/l) โครงการบ้านภัสสร ๑๒ พบค่าบีโอดี ปริมาณ ๓๘.๒ มิลลิกรัมต่อลิตร (Mg/l) และหมู่บ้านราชพฤกษ์ ๑ พบค่าบีโอดี ปริมาณ ๕๗.๖ มิลลิกรัมต่อลิตร (Mg/l) ปัจจุบันอยู่ระหว่างออกคำสั่งทางปกครองให้ปรับและห้ามมิให้ปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองสาม ผู้แทนกรมชลประทาน ได้ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว สรุปได้ว่า ปัจจุบันกรมชลประทานได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้บริหารบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) และระงับไม่ให้ระบายน้ำทิ้งลงคลองชลประทาน ตามความในพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ดังนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเนื่องจากบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องประกอบกิจการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด รวมทั้งต้องมีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้มีการดำเนินการและปฏิบัติงานตามข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นควรให้เชิญผู้แทนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเข้าร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการฯ ในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อหารือเกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นความโปร่งใสในการประกอบธุรกิจ โดยยึดหลักธรรมาภิบาล และรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งเป็นหนึ่งในระเบียบวิธิปฏิบัติของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ นอกจากนั้น ยังเห็นควรให้เชิญอธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาคลองหลวง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองสาม ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ผู้ร้องเรียน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการฯ เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชุมครั้งต่อไปด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ