ผลการดำเนินงานของกรมสรรพสามิตในรอบ 8 เดือน

ข่าวทั่วไป Wednesday June 13, 2007 08:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2550 รายได้ภาษีสรรพสามิตจัดเก็บได้กว่า 196,000 ล้านบาท ภาษีน้ำมันฯ ภาษีเบียร์ และภาษีรถยนต์ จัดเก็บได้สูงสุดสาม ลำดับแรก ด้านผลการปราบปรามจับผู้กระทำผิดได้กว่า 22,000 คดี เปรียบเทียบปรับเป็นเงินกว่า 150 ล้านบาท
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึงผลการดำเนินงาน จัดเก็บภาษีสรรพสามิตในรอบ 8 เดือน (ตุลาคม 2549 — พฤษภาคม 2550) ว่ากรมสรรพสามิต จัดเก็บภาษีได้รวม 196,911.55 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการจำนวน 8,069.71 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.27 สำหรับรายได้ภาษีสรรพสามิตในเดือนพฤษภาคม 2550 จัดเก็บได้รวม 23,367.96 ล้านบาท สูงกว่าในช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนจำนวน 128.82 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.55 (ปีก่อนเก็บได้ 23,239.14 ล้านบาท) แต่ต่ำกว่าประมาณการ 864.73 ล้านบาท
สำหรับสินค้าที่มียอดรายได้ภาษีสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
(1) ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จัดเก็บได้ 51,585.72 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการจำนวน 986.09 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.95 และสูงกว่ารายได้ภาษีน้ำมันฯ ในช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนจำนวน 5,754.20 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.56 (ปีก่อนเก็บได้ 45,831.52 ล้านบาท)
(2) ภาษีเบียร์ จัดเก็บได้ 36,288.80 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการจำนวน 4,780.55 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.17 และสูงกว่ารายได้ภาษีเบียร์ในช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนจำนวน 8,159.82 ล้านบาท หรือร้อยละ 29.01 (ปีก่อนเก็บได้ 28,128.97 ล้านบาท)
(3) ภาษีรถยนต์ จัดเก็บได้ 36,172.24 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการจำนวน 5,175.47 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.52 และต่ำกว่ารายได้ภาษีรถยนต์ในช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนจำนวน 5,427.82 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.05 (ปีก่อนเก็บได้ 41,600.06 ล้านบาท)
(4) ภาษียาสูบ จัดเก็บได้ 27,610.01 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการจำนวน 4,778.74 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.93 และสูงกว่ารายได้ภาษียาสูบในช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน จำนวน 5,672.07 ล้านบาท หรือร้อยละ 25.86 (ปีก่อนเก็บได้ 21,937.94 ล้านบาท)
(5) ภาษีสุรา จัดเก็บได้ 24,240.29 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการจำนวน 3,093.41 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.63 สูงกว่ารายได้ภาษีสุราในช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนจำนวน 3,696.97 ล้านบาท หรือร้อยละ 18 (ปีก่อนเก็บได้ 20,543.32 ล้านบาท)
อธิบดีกรมสรรพสามิตยังกล่าวถึงมาตรการภาษีสรรพสามิตเพื่อสนับสนุนการผลิต รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากลว่ามีรายละเอียด ดังนี้
1. รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากลจะต้องมีความจุของกระบอกสูบไม่เกิน 1,300 ลูกบาศก์เซนติเมตร สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน และจะต้องมีความจุของกระบอกสูบไม่เกิน 1,400 ลูกบาศก์เซนติเมตร สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล โดยให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 17 และให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2552 โดยมีเหตุผล ดังนี้
1.1) เป็นการแบ่งแยกตลาด (Segment) รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากลออกจากรถยนต์นั่งขนาดความจุของกระบอกสูบประมาณ 1,500 ลูกบาศก์เซนติเมตร (B Car) ทำให้มีผลกระทบน้อยกับแผนการผลิตรถยนต์ขนาด B (B Car) ที่มีอยู่แล้ว
1.2) แม้ว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ภาษีสรรพสามิตต่อคันประมาณ 70,000 บาท/คัน แต่สิ่งที่ได้รัฐจะได้รับประโยชน์ คือ การประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเครื่องยนต์เบนซินจะประหยัด น้ำมันได้ 10,496 บาท/คัน/ปี และเครื่องยนต์ดีเซลจะประหยัดน้ำมันได้ 15,519 บาท/คัน/ปี รวมถึงยังเป็นการลดต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่ารายได้ที่สูญเสียไป
2. รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล มีคุณลักษณะ ดังนี้
2.1) รถยนต์ที่ใช้หรือสามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงต้องมีอัตราการใช้น้ำมัน เชื้อเพลิงไม่เกิน 5 ลิตร/100 กิโลเมตร
2.2) มาตรฐานมลพิษอยู่ในระดับ EURO 4 ตามที่สำนักงานมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศกำหนด
2.3) ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ปล่อยจากท่อไอเสียไม่เกิน 120 กรัม/กิโลเมตร
2.4) มีมาตรฐานความปลอดภัยในด้านการชนของ UNECE
นอกจากนี้ อธิบดีกรมสรรพสามิตยังกล่าวถึงการดำเนินงานด้านการปราบปรามว่า ที่ผ่านมากรมสรรพสามิตได้ดำเนินงานตามมาตรการเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามบุหรี่และสุราเถื่อน โดยสั่งการให้ชุดเฉพาะกิจของสำนักตรวจสอบ ป้องกันและปราบปรามดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่สรรพสามิตทั่วประเทศออกตรวจตราและกวาดล้างบุหรี่และสุราเถื่อนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ที่เสียภาษีอย่างถูกต้อง และให้ผู้ที่อยู่นอกระบบเข้ามาสู่ระบบการจัดเก็บภาษีต่อไป
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2550 ชุดเฉพาะกิจของสำนักตรวจสอบ ป้องกันและ ปราบปราม ได้จับกุมผู้กระทำความผิด พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ. 2509 โดยมีนายสุเมธ พิพัฒน์พงศา เป็นผู้ต้องหา และเป็นผู้ได้รับอนุญาตจำหน่ายยาสูบที่ผลิตในประเทศ ประเภท 2 (ขายส่ง) ชื่อร้าน “ป.พิพัฒน์” ตั้งอยู่เลขที่ 749/4-5 ตำบลมะขามหย่ง อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ได้ของกลางเป็นยาสูบในและต่างประเทศ ดังนี้
1. ยาสูบยี่ห้อ กรองทิพย์ ๙๐ (ปลอม) จำนวน 660 ซอง
2. ยาสูบยี่ห้อ แอล แอนด์ เอ็ม (ปลอม) จำนวน 3,780 ซอง
เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งข้อหามียาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบไว้ในครอบครองเกินกว่า 500 กรัม และมีไว้เพื่อขายยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ พร้อมทั้งนำผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน สภ.อ. เมืองฯ ชลบุรี เพื่อดำเนินคดีต่อไป โดยประเมินค่าปรับเป็นเงินจำนวน 3,946,050 บาท
สำหรับพฤติกรรมในการจับกุม เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากสายลับว่ามีการกระทำผิด พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ. 2509 จึงได้ทำการสืบสวนเพิ่มเติมและติดตามการจำหน่ายยาสูบที่มิชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวจนแน่ชัดว่าร้านขายส่งดังกล่าวมีการซื้อขายยาสูบที่มิชอบกฎหมายนี้จริง จึงเข้าทำการตรวจค้น ซึ่งผู้ต้องหาได้ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ตามข้อกล่าวหา พร้อมทั้งให้การเพิ่มเติมว่าได้ซื้อยาสูบดังกล่าวมาจากชายชื่อ “หม่อมเหยิน” โดยนำมาติดต่อขายให้ในราคาถูกกว่าที่เคยซื้อกล่าวคือ ยาสูบยี่ห้อ แอล แอนด์ เอ็ม ราคาซองละ 38 บาท และยาสูบยี่ห้อกรองทิพย์ ๙๐ ราคาซองละ 30 บาท และได้ซื้อมาจำหน่ายไปบ้างแล้วบางส่วนให้กับลูกค้าในจังหวัดชลบุรี และจำนวนยาสูบเหลือเท่าที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบ
สำหรับผลการปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตระหว่างเดือนตุลาคม 2549 — พฤษภาคม 2550 สามารถจับกุมผู้กระทำผิดทั่วประเทศได้จำนวน 22,249 คดี เปรียบเทียบปรับเป็นเงินจำนวน 154,258,566.91 บาท โดยของกลางมีดังนี้
1.สุรา
1) สุรากลั่น จำนวน 87,832.960 ลิตร
2) สุราแช่ จำนวน 159,572.855 ลิตร
3) เชื้อสุรา จำนวน 1,008.744 กิโลกรัม
4) สุราต่างประเทศ จำนวน 65,535.660 ลิตร
5) เครื่องต้มกลั่นสุรา จำนวน 138 ชุด
2. ยาสูบ
1) บุหรี่ซิกาแรตในประเทศ จำนวน 127,205 ซอง
2) บุหรีซิกาแรตต่างประเทศ จำนวน 161,916 ซอง
3) ยาเส้นปรุง (ผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภท
SHISHA หรือฮุคก้า) จำนวน 973.125 กิโลกรัม
3. ไพ่ จำนวน 1,095 สำรับ
4. สินค้าตาม พ.ร.บ. ภาษีฯ 2527
1) น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน
- โซลเว้นท์ จำนวน 34,300 ลิตร
- ดีเซล จำนวน 278,927 ลิตร
- เบนซิน จำนวน 80,452 ลิตร
- น้ำมันเตา/น้ำมันอื่นๆ จำนวน 629,900 ลิตร
2) เครื่องดื่ม จำนวน 610 ขวด,กระป๋อง
3) เครื่องปรับอากาศ จำนวน 627 เครื่อง
4) น้ำหอม จำนวน 582 ขวด
5) รถจักรยานยนต์ จำนวน 20 คัน
6) แบตเตอรี่ จำนวน 3,230 ก้อน
สำหรับร้านค้าที่จำหน่ายบุหรี่และสุราหากพบการกระทำผิดจะดำเนินการตามกฎหมายและเพิกถอนใบอนุญาตทันที ส่วนในกรณีที่เป็นตัวแทนจำหน่ายเมื่อกระทำผิด สรรพสามิตพื้นที่ จะดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาต และแจ้งการเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าวให้โรงงานยาสูบทราบ เพื่อดำเนินการเพิกถอนการเป็นตัวแทนจำหน่ายต่อไป
“หากทราบเบาะแสการกระทำความผิดเกี่ยวกับสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต สามารถแจ้งโดยตรงได้ที่กรมสรรพสามิต หรือสำนักงานสรรพสามิตทุกแห่งทั่วประเทศ หรือที่ศูนย์ประสานงานกรมสรรพสามิต hot line 1713 หรือที่ www.excise.go.th หรือแจ้งที่ตู้ ป.ณ. 10 เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300”
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
สำนักงานเลขานุการกรม
กรมสรรพสามิต
โทร. 02-668-6619
โทรสาร 02-241-4778
Website: www.excise.go.th
e-mail: public@excise.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ