กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--การบินไทย
เมื่อวานนี้ (9 พฤษภาคม 2550) ณ สำนักงานใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ โดยมี พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข ประธานกรรมการบริษัทฯ เป็นประธานในการประชุม โดยมีวาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. ผลประกอบการในรอบครึ่งปีงบประมาณ 2550
ผลการดำเนินงานรวมครึ่งปีแรกของปีบัญชี 2550 (1 ตุลาคม 2549 — 31 มีนาคม 2550) บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 8,259 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 1,755 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 17.5 โดยมีกำไรต่อหุ้น 4.86 บาท ลดลงจากปีก่อนซึ่งมีกำไรต่อหุ้น 5.89 บาท
ในไตรมาส 2 ปีบัญชี 2550 (1 มกราคม — 31 มีนาคม 2550) บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 49,597 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 7.6 และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวม 43,420 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 7.1 ทำให้มีกำไรจากการขายและการให้บริการ 6,177 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 592 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.6 อย่างไรก็ดี บริษัทฯ มีกำไรก่อนภาษีเงินได้ 6,084 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 2,747 ล้านบาท เนื่องจากปีก่อนมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการปรับยอดเงินกู้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ คงเหลือ ณ วันสิ้นงวดเป็นเงินบาทสูงกว่าปีปัจจุบัน เป็นผลให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 4,233 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 1,972 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 31.8 คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 2.49 บาท สูงกว่าไตรมาสแรกซึ่งมีกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 2.37 บาท แต่ต่ำกว่าไตรมาเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 3.65 บาท
2. แนวโน้มของธุรกิจการบินในไตรมาส 3
เนื่องจากในไตรมาสที่ 3 เป็นช่วง Low season จึงมีการแข่งขันในธุรกิจการบินสูงมาก ในขณะที่แนวโน้มของการทำรายได้ลดลง คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติให้ฝ่ายบริหารพิจารณาความคุ้มค่าของการบินในเส้นทางต่าง ๆ รวมถึงการบริหารทรัพย์สินของบริษัทฯ เพื่อเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่าย โดยต้องไม่กระทบต่อรายได้และการบริการ และพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการบริการเพื่อดึงดูดความพอใจของผู้ใช้บริการ
3. อนุมัติการจัดหาเงินกู้
คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติให้จัดหาเงินทุนในวงเงิน 17,000 ล้านบาท โดยระยะเวลาในการกู้ ต้องสอดคล้องกับความต้องการใช้เงินของบริษัทฯ คือ
1. การกู้เงินเยน (YEN) จากสถาบันการเงินครั้งเดียว หรือมากกว่า 1 ครั้ง (ประมาณ 3,000 — 6,000 ล้านบาท)
2. การออกหุ้นกู้เงินบาทภายในประเทศครั้งเดียว หรือ มากกว่า 1 ครั้ง และ/หรือ การกู้เงินบาทจากสถาบันการเงินในประเทศ 1 สถาบัน หรือมากกว่า 1 สถาบัน วงเงินรวม 11,000 — 14,000 ล้านบาท
กรณีมีความจำเป็น เช่น บริษัทฯ ไม่สามารถจัดหาเงินทุนได้ตามกำหนด ให้บริษัทฯ กู้เงินระยะสั้นต่อจากกระทรวงการคลังในรูป Euro Commercial Paper (ECP) ก่อนการหาเงินกู้ระยะยาวมาทดแทนต่อไป
ทั้งนี้ การจัดหาเงินทุนดังกล่าว เมื่อได้สถาบันการเงินแล้ว ต้องเสนอคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อพิจารณาต่อไป