กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--มูลนิธิข้าวไทยฯ
ในช่วงเช้าวันที่ 11 พฤษภาคม 2550 ของการประชุม Thailand Rice Convention 2007
ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ประธานมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้บรรยายในหัวข้อ “ The King and Thai Rice : The Royal Rice Projects ” (ในหลวงกับข้าวไทย : โครงการข้าวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ) ซึ่งได้ให้ข้อเท็จจริงและข้อคิดที่เป็นประโยชน์ต่อแนวนโยบายการผลิตข้าวไทย ประกอบด้วย
- ข้าวอยู่คู่กับประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และมีความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากทศพิธราชธรรมของพระมหากษัตริย์ที่ต้องดูแลให้ประชาชนกินดีอยู่ดีมีอาหารอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งทรงมีพิธีการต่าง ๆ เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ให้กับข้าว
- ความเจริญของโลกที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เราละเลยธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งจะกลับมาทำลายชีวิตเราเอง ภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากที่เราไม่ทนุถนอมโลก ขาดการพัฒนาแบบยั่งยืนหรือมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างระมัดระวัง ระบบทุนนิยมมุ่งหาเงินเป็นสำคัญ ส่งผลให้เกิดการแข่งกันใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันรักษาโลกเรา
- พระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยเรื่องการบริหารจัดการธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึงเรื่องข้าวด้วย โดยการให้ความสำคัญเรื่องข้าวควบคู่ไปกับเรื่องดินและชาวนา ต้องคำนึงถึงบุญคุณของชาวนาที่ลำบากปลูกข้าวให้เรากิน และแม้ว่าเราจะเจริญก้าวหน้าเพียงใดแต่ชาวนาก็ไม่รวยขึ้น ทนอยู่ในสภาพนี้มามากกว่า 40 ปีแล้ว
- พระเจ้าอยู่หัวทุ่มเทศึกษาการบริหารจัดการดินและน้ำ แม้ที่ดินที่ทิ้งแล้ว ระบบทุนนิยมอาจมองว่าไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน แต่พระองค์ท่านก็นำมาฟื้นฟูสภาพโดยใช้ธรรมชาติมาแก้ให้เกิดความสมดุลขึ้นได้ เช่น เรื่องหญ้าแฝก ตลอดจนการสละพระราชทรัพย์เงินและที่ดินส่วนพระองค์ในสวนจิตรลดา เพื่อทำการทดลอง เพาะพันธุ์ข้าว เพื่อประโยชน์ของชาวนา
- เราต้องอย่าคิดเรื่องเงินก่อน ควรคิดแค่พอมีพอกิน เพราะถึงแม้ว่าเราจะมีเงิน ทรัพย์สินมากมาย แต่เรากินสิ่งเหล่านี้เพื่อความอยู่รอดไม่ได้ ดังนั้น ต้องสร้างความสมดุลระหว่างดิน น้ำ และธรรมชาติตามหลักของ “ ทฤษฎีใหม่ ” ของพระองค์ท่าน ต้องบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ภายในบ้านไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ และการพลังงาน อย่างเป็นระบบแบบแผน และหากมีผลผลิตเหลือก็นำไปขาย หรือรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์ ร้านค้าชุมชน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่จนมีธุรกิจเป็นของตนเอง