สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สมาคมโฆษณาและดั๊บเบิ้ล เอ จัดประกวด “สื่อรณรงค์”ใช้กระดาษจาก “ไม้ปลูก”กระตุ้นคนไทยใช้กระดาษอย่างคุ้มค่า

ข่าวทั่วไป Monday June 25, 2007 15:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--คิธ แอนด์ คินฯ
สถาบันสิ่งแวดล้อม สมาคมโฆษณาธุรกิจ และดั๊บเบิ้ล เอ ร่วมกันจัดประกวดสื่อรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม กระตุ้นคนไทยเลือกใช้กระดาษจากไม้ปลูกไม่ทำลายป่าธรรมชาติ และสร้างความเข้าใจถึงแหล่งที่มาของกระดาษผ่านการประกวดสื่อ 3 ประเภท ระบุปัจจุบันคนไทยเกือบครึ่ง ไม่รู้ที่มาของกระดาษ
ศาสตราจารย์ ดร. สนิท อักษรแก้ว ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า การที่สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย และดั๊บเบิ้ล เอ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ประกวด “สื่อรณรงค์” การใช้กระดาษจาก “ไม้ปลูก” เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน และผู้บริโภค รู้จักทางเลือกในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ทราบแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ชัดเจน เช่น กระดาษซึ่งปัจจุบันในประเทศไทย มีกระดาษที่ผลิตจากวัตถุดิบซึ่งเป็นไม้ปลูกของเกษตรกร หรือวัตถุดิบทางการเกษตรอื่นๆ และหลีกเลี่ยงการใช้ไม้ที่ใช้วัตถุดิบจากการตัดป่าธรรมชาติ และเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนได้แง่คิดในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และได้แสดงความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตผลงานดีไซน์ในรูปแบบต่างๆ
นอกจากนี้ในภาพรวมหากผู้บริโภคกระดาษทั่วโลกสนับสนุนการใช้หรือการผลิตกระดาษจากไม้ปลูก ก็จะกลายเป็นแรงผลักดันให้ลดการตัดไม้จากป่าธรรมชาติมาผลิตกระดาษได้ โดยเฉพาะในขณะที่ทั่วโลกกำลังประสบกับภาวะโลกร้อน การไม่ตัดไม้ทำลายป่าเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษ ก็ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันการเกิดภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี
นายยุทธพงศ์ กิติวงศ์ไพบูลย์ อุปนายกสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างทั้ง 3 หน่วยงานในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้ผู้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้และตระหนักถึงคุณค่าของกระดาษที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยหากผู้ที่จะส่งผลงานเข้าประกวดในครั้งนี้ ผลิตสื่อออกมาให้ผู้บริโภคได้ตระหนักถึงคุณค่าและแหล่งที่มาของกระดาษได้มากเท่าไหร่ สิ่งที่จะตามมาคือจิตสำนึกที่จะเกิดขึ้นกับทุกคนในการร่วมกันใช้กระดาษอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดมากเท่านั้น ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้จะส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมของโลกในระยะยาว
นายชาญวิทย์ จารุสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดั๊บเบิ้ล เอ กล่าวว่า การประกวด “สื่อรณรงค์” การใช้กระดาษจาก “ไม้ปลูก” จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.การออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์โปสเตอร์ 2. ภาพยนตร์โฆษณา และ 3.ประเภทสกรีนลายเสื้อยืด โดยสื่อทุกประเภทที่ส่งเข้าประกวดจะต้องมีเนื้อหารณรงค์ชักชวนให้คนไทยคำนึงถึงแหล่งที่มาที่แน่ชัดของวัตถุดิบในการผลิตกระดาษ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระดาษจาก “ไม้ปลูก”ของเกษตรกร รวมทั้งสามารถกระตุ้นให้ผู้ที่ได้รับสื่อตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรกระดาษอย่างถูกต้องและคุ้มค่า
สำหรับผู้ที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจะได้เข้าร่วมกิจกรรม Work Shop ในการผลิตสื่อทั้ง 3 ประเภท คือ สื่อสิ่งพิมพ์โปสเตอร์ ภาพยนตร์โฆษณา และการออกแบบสกรีนลายเสื้อยืด จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากโรงรียนอินเตอร์เน็ตและการออกแบบ Net Design พร้อมทั้งเยี่ยมชมโรงงานผลิตกระดาษคุณภาพที่ทันสมัยของดั๊บเบิ้ล เอ และการผลิตต้นกระดาษด๊บเบิ้ล เอ ที่ จ.ปราจีนบุรี
“ที่ผ่านมาประชาชนกว่าร้อยละ 40 ยังไม่ทราบว่ากระดาษผลิตมาจากวัตถุดิบประเภทใด แต่ส่วนที่เหลืออีกกว่าร้อยละ 50 มีความเข้าใจและรับทราบถึงแหล่งวัตถุดิบที่นำมาผลิตกระดาษ แต่ยังเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตกระดาษต้องมาจากป่าไม้ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติเท่านั้น แต่ปัจจุบันดั๊บเบิ้ล เอ ได้มีการคิดค้นและพัฒนาสายพันธุ์ ต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ มากว่า 25 ปี กว่าที่จะนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษที่มีคุณภาพ โดยเกษตรกรสามารถปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่นได้ในลักษณะสวนผสม ตามพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่นบนคันนา ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ แล้วกว่า 1 ล้านครัวเรือนนั้น ทำให้สามารถสร้างออกซิเจนให้กับบรรยากาศได้ 1.6 ล้านตัน และช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศได้ไม่น้อยกว่า 2.4 ล้านตัน ดังนั้นการประกวดสื่อรณรงค์ในครั้งนี้ จะเป็นตัวกระตุ้นที่ดีที่จะทำให้คนทั่วไปได้รับรู้และทราบถึงแหล่งที่มาของกระดาษ และจะทำให้คนทั่วไปใช้กระดาษอย่างคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น” คุณชาญวิทย์ กล่าว
สำหรับผู้ที่สนใจส่งผลงานเข้าประกวดสามารถส่งผลงานด้วยตัวเอง หรือทางไปรษณีย์ มาที่ โครงการประกวด “สื่อรณรงค์” การใช้กระดาษจาก “ไม้ปลูก” เลขที่ 238/3-4 ซ.สายน้ำทิพย์ 2 ถ.สุขุมวิท 22 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กทม.10110 หรือ โทร 0-2663-3226 ต่อ 64 โดยจะเปิดรับผลงานตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2550 นี้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
คุณมารยาท จำปาทุม
โทร.02-663-3226 ต่อ 64 มือถือ 085-839-1133

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ