เปิดมิติการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 ด้วยทัศนศึกษาออนไลน์

ข่าวทั่วไป Monday March 21, 2011 14:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--สสวท. นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า สสวท. จัดงาน “เปิดมิติการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 ด้วย ทัศนศึกษาออนไลน์” ในวันจันทร์ที่ 21 มีนาคม 2554 เวลา 8.30-11.30 น. ณ ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ ชั้น 1 โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพมหานคร ภายในงานจะมีการลงนามความร่วมมือระหว่างผู้อำนวยการโรงเรียนนำร่อง 15 โรงเรียนกับ สสวท. และการเสวนาในหัวข้อการจัดกิจกรรม การสอนวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 ด้วยทัศนศึกษาออนไลน์ เนื่องจากการศึกษาแหล่งเรียนรู้เป็นกิจกรรมการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่สำคัญเพื่อช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ให้ผู้เรียน การศึกษาแหล่งเรียนรู้บางสถานที่นักเรียนอาจจะเดินทางลำบาก และอยู่ห่างไกล ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงและบางแห่งไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไป การจัดกิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานที่จริงนั้นบางครั้งอาจเจออุปสรรคเกี่ยวกับสภาพดินฟ้า อากาศและฤดูกาลต่างๆ ที่ต้องใช้เวลา ที่พอเหมาะจึงจะสามารถท่องเที่ยวในสถานที่นั้นๆ ได้ การจัดกิจกรรมและศึกษาจากแหล่งเรียนรู้ออนไลน์จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขข้อจำกัดต่างๆ ได้ เป็นการใช้ ICT ในการบูรณาการในการเรียนการสอนของครูผู้สอน ครูและนักเรียนสามารถใช้ระบบศึกษาแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา แหล่งเรียนรู้ทัศนศึกษาออนไลน์ จัดทำขึ้นผ่านเว็บไซต์ http://fieldtrip.ipst.ac.th/ โดย คัดสรรแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ มาใด้ได้ศึกษาเรียนรู้กัน ได้แก่ สามพันโบก จ. อุบลราชธานี เป็นแก่งหินขนาดใหญ่ หน้าน้ำ ซ่อนตัวสนิทนิ่งอยู่ใต้ผิวน้ำ ในช่วงฤดูแล้ง ธ.ค.- พ.ค. จะเป็นดอนขนาดใหญ่ผุดขึ้นมากลางลำน้ำโขง เหมืองถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง จัดเป็นเหมืองถ่านหินลิกไนต์ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย วนอุทยานถ้ำแก้วโกมล จ. แม่ฮ่องสอน เป็นถ้ำผลึกแคลไซด์ที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย และพบเป็นแหล่งที่ 2 ในทวีปเอเชีย โดยแห่งแรกอยู่ที่ประเทศจีน เหมืองดีบุก จ. เชียงใหม่ เป็นเหมืองฉีด กรรมวิธีการทำไม่ซับซ้อน แต่บริเวณกว้าง เพราะแร่กระจายอยู่ในพื้นที่ทั่วไปเยอะมาก จริงๆเป็นเหมืองดีบุก แต่มีแร่ผลพลอยได้คือชีไลด์ ราคาตันละ 4 แสนบาทเป็นตัวสร้างกำไรที่ดีของเหมืองเลยทีเดียว การดำเนินงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อนำหลักสูตรการเรียนรู้นอกห้องเรียนมาใช้บูรณาการกับนักเรียน พัฒนาเครือข่ายของแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญและสอดคล้องกับสาระการเรียนรู้ผ่านสื่อดิจิทัล เพื่อช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นและแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ทั่วประเทศ นักเรียนได้พัฒนาและเพิ่มทักษะในการใช้ ICT ในการค้นหาข้อมูลสารสนเทศ และเพื่อใช้ ICT ในการติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครู และโรงเรียนทั่วประเทศ ด้วยระบบออนไลน์ เว็บไซต์ http://fieldtrip.ipst.ac.th/

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ