กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--ปตท.
ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.07 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับประมาณ 106.71 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ปรับลดลง 1.73 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล อยู่ที่ 112.66 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลและน้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) ปรับตัวลดลง 3.65 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลอยู่ที่ 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบอ่อนตัวลงจากผลกระทบของเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีความรุนแรงสูงมากถึง 9 ริกเตอร์ รุนแรงที่สุดในรอบ 140 ปี และคลื่นสึนามิทำให้เศรษฐกิจเสียหายคิดเป็นวงเงินเบื้องต้นประมาณ 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณมูลค่ามหาศาลเพื่อฟื้นฟูประเทศ ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันของญี่ปุ่นกว่า 30 % หรือ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันต้องหยุดดำเนินการ และโรงกลั่นในตะวันออกกลางหลายแห่งมีกำหนดปิดซ่อมบำรุงประจำปี ประกอบกับ ประเทศ OPEC-10 ส่งออกน้ำมันดิบเฉลี่ย 4 สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 เม.ย. 54 เพิ่มขึ้น 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ที่ระดับ 23.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 มี.ค. 54 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
อย่างไรก็ตามวันที่ 19 มี.ค. กำลังทหารของชาติตะวันตกเปิดฉากโจมตีลิเบียด้วยกำลังทางอากาศต่อกองกำลังของผู้นำลิเบียอย่างรุนแรง เพื่อบังคับใช้เขตห้ามบิน หรือ No Fly Zone ตามมติของสหประชาชาติ ขณะที่การประท้วงในเยเมนมีผู้เสียชีวิตมากขึ้น และ บาห์เรนประกาศกฎอัยการศึก 3 เดือน ตั้งแต่ 15 มี.ค.54 อาจปลุกเร้าให้ความขัดแย้งลุกลามไปยังประเทศในตะวันออกกลางจากข้อขัดแย้งระหว่างนิกายชีอะห์และสุหนี่ ส่งผลให้ราคาน้ำมันแข็งแกร่งขึ้น
สำหรับภาคเศรษฐกิจล่าสุดธนาคารกลางของจีนปรับเพิ่มเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์เป็นครั้งที่ 3 ของปีนี้ที่ 0.5% มาอยู่ที่ระดับ 20% ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.54 ด้านตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังส่งสัญญาณที่ดีจากยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 มี.ค. 54 ลดลง 16,000 ราย จากสัปดาห์ก่อนมาอยู่ที่ 385,000 ราย ขณะที่สถิติด้านอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ไม่สดใสนักหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ก.พ. 54 ลดลง 22.5% จากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 479,000 หน่วย ลดลงต่ำสุดในรอบ 27 ปี และการอนุญาตก่อสร้างลดลงสู่ระดับ 517,000 หน่วย
สำหรับแนวโน้มสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันจะแข็งแกร่งขึ้นจากความวิตกต่อปัญหาในประเทศผู้ผลิตน้ำมันโดยเฉพาะสถานการณ์ในลิเบียที่ประเทศตะวันตกได้ใช้มาตรการทางทหารเต็มรูปแบบประกอบกับโรงกลั่นของญี่ปุ่นเริ่มกลับมาดำเนินการบางส่วนซึ่งผู้อำนวยการขององค์กรพลังงานสากล (International Energy Agency:IEA) คาดว่าญี่ปุ่นต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นประมาณ 200,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าแทนพลังงานนิวเคลียร์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เสียหายให้จับตาสถานการณ์ในประเทศตะวันออกกลาง อาทิ กำลังการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 400,000 บาร์เรลต่อวัน (25% ของกำลังการผลิตรวม) และการประท้วงในเยเมน และบารห์เรน ให้ติดตามการประกาศอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเยอรมนี และสหรัฐฯในสัปดาห์นี้