กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย
CapAsia ผู้จัดการกองทุนตราสารทุนส่วนบุคคลซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนระหว่างกลุ่มซีไอเอ็มบี และ กลุ่มสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดแบงก์ ได้เข้าลงนามในสัญญาการร่วมลงทุน ด้วยมูลค่าลงทุน 20.5 ล้านเหรียญสหรัฐในโครงการกังหันลม 2 แห่งในประเทศปากีสถาน
CapAsia ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนตราสารทุนส่วนบุคคลชั้นนำด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดกลางในตลาดเอเชียใหม่ที่ไม่ใช่ประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน (Non-BRIC Emerging Asia) ได้เข้าทำสัญญาดังกล่าวผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐานอิสลาม (Islamic Infrastructure Fund: IIF) โดย IIF ภายใต้การบริหารของ CapAsia เป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐานตราสารทุนส่วนบุคคลมูลค่า 262 ล้านเหรียญสหรัฐที่มาจากการร่วมทุนระหว่างธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม และ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย
โครงการกังหันลมทั้งสองแห่งนี้มีกำลังไฟ 50 เมกกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันกำลังก่อสร้างอยู่ในแคว้นสินธุ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศปากีสถาน โดยได้รับการสนับสนุนจาก Fauji Foundation, Fauji Fertilizer Bin Qasim และ Tapal Group จากปากีสถาน
Dr. Johan Bastin ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ CapAsia กล่าวว่า การลงทุนในครั้งนี้มีความสำคัญต่อ IIF ปากีสถานถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายเชิงภูมิศาสตร์หลักของกองทุน อีกทั้งพลังงานหมุนเวียนเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจหลักในการลงทุนของ CapAsia
“เรารู้สึกเป็นเกียรติและยินดีที่ได้ร่วมงานกับองค์กรที่มีประสบการณ์และเป็นที่ยอมรับอย่าง Fauji Foundation อีกทั้งยังรู้สึกตื่นเต้นที่ได้มีส่วนร่วมในการลงทุนครั้งนี้ซี่งมีความสำคัญต่อแนวคิดริเริ่มในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในปากีสถานและยังช่วยปากีสถานในการลดการนำเข้าเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์จากต่างประเทศด้วย” Dr. Johan Bastin กล่าวเสริม
Lt Gen (Rtd) Hamid Rab Nawaz กรรมการผู้จัดการ Fauji Foundation กล่าวในโอกาสเดียวกันนี้ว่า ปากีสถานมีแนวทางกฎระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้พลังงานหมุนเวียนที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนระยะยาวอย่างเช่น Fauji Foundation เรายินดีที่ได้มีโอกาสร่วมเป็นหุ้นส่วนและร่วมในกลุ่มผู้บุกเบิกด้านพลังงานกังหันลมในประเทศร่วมกับ CapAsia, Fauji Fertilizer Bin Qasim และ Tapal Group
การก่อสร้างโรงกังหันลมทั้งสองแห่งนี้คาดว่าจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายน 2554 และจะแล้วเสร็จในเดือน มีนาคม 2556 ด้วยเงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 260 ล้านเหรียญสหรัฐ โครงการดังกล่าวจัดเป็นหนึ่งในโครงการประเภทเดียวกันโครงการแรกๆที่มีการดำเนินการนับตั้งแต่รัฐบาลปากีสถานได้ประกาศใช้กรอบการลงทุนด้านพลังงานทดแทนในปี 2549 ประเทศปากีสถานมีทรัพยากรด้านพลังงานลมที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเส้นทางขนานระหว่าง Gharo และ Jhimpir ในแคว้นสินธุ ซึ่งมีกำลังลมที่มีค่าเฉลี่ยเกินกว่า 6.8 เมตร/วินาที
นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2549 CapAsia มีทรัพย์สินภายใต้การบริหารเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันมีการบริหารจัดการกองทุน 3 กองทุนหลักได้แก่ South East Asian Strategic Assets Fund (SEASAF), Islamic Infrastructure Fund (IIF) และ the Asia Infrastructure Fund (AIF)
ปัจจุบัน CapAsia มีการว่าจ้างบุคลากรที่เป็นมืออาชีพด้านการลงทุนกว่า 20 คน มีประสบการณ์ด้านกองทุนตราสารทุนส่วนบุคคลอันยาวนานกว่า 90 ปี โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ในสี่ตลาดหลักของภูมิภาค ได้แก่ สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ จาการ์ตา และ กรุงเทพฯ
ข้อมูลเกี่ยวกับธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เป็นธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย มี 149 สาขาทั่วประเทศ และให้บริการผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลายแก่ทั้งลูกค้าบรรษัทและลูกค้ารายย่อย ธนาคารยังให้บริการค้าหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่บริษัท ให้บริการกองทุนรวม การจัดการสินทรัพย์ และผลิตภัณฑ์ประกันภัย และบริการต่างๆผ่านทางบริษัทในเครือและสาขา
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เดิมรู้จักกันในชื่อ ไทยธนาคาร ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ กลุ่มซีไอเอ็มบี ในปี 2552 เมื่อกลุ่มซีไอเอ็มบี ได้เข้าถือหุ้น 93.15% โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 สินทรัพย์และกองทุนผู้ถือหุ้นของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มีมูลค่าคิดเป็น 138,965,719,584 และ 7,623,461,927 บาทตามลำดับ
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารเป็น ‘บวก’ (Positive) จากเดิมที่จัดอยู่ในระดับ ‘มีเสถียรภาพ’ (Stable) เมื่อเร็วๆนี้ อันเป็นผลลัพธ์จากการที่ธนาคารได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายธุรกิจของกลุ่มซีไอเอ็มบี ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มซีไอเอ็มบี ที่แข็งแกร่งมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ฟิทช์ เรทติ้งส์ได้คงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศระยะยาวที่ ‘BBB-’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F3’ อันดับเครดิตในประเทศระยะยาวที่ ‘A+(tha)’ อันดับเครดิตในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1 (tha)’ อันดับเครดิตในประเทศสำหรับตราสารหนี้ด้อยสิทธิระยะยาวที่นับเป็นกองทุนชั้นที่ 2 (Upper Tier2) ของ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ที่ ‘A-(tha)’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘D’ และอันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) ของธนาคารที่ ‘2’
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ
จิตติมา ชวลิตนิมิตกุล (เต้ย) สำนักสื่อสารองค์กร ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)
โทรศัพท์: +66 2638 8000 ต่อ 8249 โทรสาร: +66 2657 3084
อีเมล์: jittima.c@cimbthai.com