กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสาน 48 จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือภาคลาง และภาคตะวันออกแจ้งเตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน ในช่วงวันที่ 23-26 มีนาคม 2554 ซึ่งอาจทำให้บ้านเรือนและพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย พร้อมสั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนจัดเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ทันทีที่เกิดภัย
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ประกอบกับบริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อน ทำให้เกิดพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก โดยจะเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคอื่นๆในระยะต่อไป รวม 48 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก ตาก สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ หนองบัวลำภู เลย หนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี ลพบุรี และชัยนาท กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวดำเนินการแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมการป้องกันอันตรายจากพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก ซึ่งอาจสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินได้โดยหมั่นติดตามพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมสั่งการให้มิสเตอร์เตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแจ้งเตือนประชาชน และรายงานสถานการณ์ภัยแก่ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพพร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที และหากเกิดสถานการณ์รุนแรงให้ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนป้องกันภัยของจังหวัดและอำเภอ
นายวิบูลย์ กล่าวเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้ง 48 จังหวัดเตรียมความพร้อมรับมือพายุฝนฟ้าคะนองลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก โดยติดตามรับฟังพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเก็บสิ่งของที่สามารถปลิวไปตามลมได้ไว้ในที่มิดชิด ตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง รวมถึงตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณรอบบ้าน เพื่อป้องกันการโค่นล้มทับบ้านเรือนได้รับความเสียหาย หลีกเลี่ยงการหลบพายุฝนฟ้าคะนองใต้ต้นไม้ ใกล้ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรงเพราะอาจถูกล้มทับได้ รวมถึงไม่อยู่ใกล้วัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าและไม่สวมใส่เครื่องประดับ เช่น ทองคำ เงิน เป็นต้นงดเว้นการใช้โทรศัพท์มือถือและเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดบริเวณที่โล่งแจ้ง เพราะขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง อาจเกิดฟ้าผ่า ทำให้ได้รับอันตรายถึงชีวิตได้ ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย สุดท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป