กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--มูลนิธิรักษ์ไทย
มูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยการสนับสนุนของกองทุนโลกด้านเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย จัดงาน “รู้ทัน วัณโรค พบก่อน รักษาหาย ไม่แพร่กระจาย” เนื่องในวันวัณโรคโลกสากล 24 มีนาคม 2554 เพื่อสร้างกระแสให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันและการดูแลรักษาวัณโรคอย่างถูกต้อง ผ่านการจัดกิจกรรมรณรงค์ จังหวัดนนทบุรี กาญจนบุรี ระยอง อุบลราชธานี เชียงใหม่ นครราชสีมา จันทบุรี ชลบุรี และศรีสะเกษ ติด 10 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงสูงสุด สาเหตุมาจากดื้อยา มีฐานะยากจน ขาดยา กินยาไม่สม่ำเสมอ แพ้ยา กินยาไม่ถูกต้อง
นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินงานวัณโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะผลักดันเร่งรัดให้หน่วยบริการสาธารณสุขมีบริการตรวจรักษาวัณโรคที่เป็นมาตรฐาน ทั้งด้านการค้นหาผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ติดเชื้อเอดส์ ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้สัมผัสร่วมบ้าน แรงงานย้ายถิ่น แรงงานต่างด้าว เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชน เพื่อให้ประชาชน มีความรู้ความเข้าใจและตระหนัก สามารถสร้างเสริมสุขภาพของตนเอง ครอบครัว ตลอดจนในชุมชน เพื่อให้ปลอดภัยจากวัณโรค
กระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายที่จะพัฒนาสถานีอนามัยทั่วประเทศมากกว่า 9,000 แห่ง เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลซึ่งจะมีแพทย์ พยาบาลหมุนเวียนไปให้บริการ มีศักยภาพที่จะเป็นแกนนำในการป้องกันควบคุมวัณโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะกิจกรรมการค้นหาผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ ในกลุ่มเสี่ยง การควบคุมกำกับการกินยาของผู้ป่วย และการเยี่ยมบ้าน สำหรับงบประมาณกล่าวได้ว่าผู้ป่วยทุกรายสามารถเข้าถึงระบบการตรวจรักษาได้ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่ชัดเจนที่ให้บริการฟรี ตามนโยบายรักษาฟรี 48 ล้านคนบัตรประชาชนใบเดียว สำหรับวัณโรคตามแนวชายแดนและแรงงานข้ามชาติ กระทรวงสาธารณสุขพยายามผลักดันให้เข้าสู่ระบบแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฏหมาย และมีระบบประกันสุขภาพ และในกลุ่มประชากรด้อยโอกาสอื่นๆ ก็พยายามจัดหาเงินทุน เงินนอกงบประมาณ เช่น จากกองทุนโลก (Global fund) มาใช้ในการดำเนินการป้องกันควบคุมวัณโรค
นายพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการ มูลนิธิรักษ์ไทย ได้กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการรณรงค์ป้องกัน “วัณโรค” ที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้วัณโรคกลับมามีปัญหาใหม่นั้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ความยากจน การย้ายถิ่นอาศัย และแรงงานอพยพ ส่งผลให้การแพร่ระบาดของวัณโรค มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคประมาณ 2 พันล้านคนทั่วโลก หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรโลก มีผู้ป่วยวัณโรคเสียชีวิต 1.9 ล้านคนในแต่ละปี จากการคำนวณทางระบาดวิทยาในรายงานขององค์การอนามัยโลกคาดว่า ประเทศไทยน่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่ทุกประเภทประมาณ 92,300 คน ในจำนวนนี้ประมาณครึ่งหนึ่งหรือ 44,475 คนเป็นผู้ป่วยที่สามารถแพร่เชื้อได้ และเสียชีวิตปีละ12,089 ราย นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ตรวจพบติดเอดส์ร่วมด้วยประมาณร้อยละ 17 มูลนิธิรักษ์ไทยในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชน หนึ่งในสมาชิกองค์การแคร์ จึงได้ร่วมมือกับสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องวัณโรค ตามช่องทางสื่อต่างๆ อาทิ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ รวมถึง Social Network เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจเกี่ยวกับโรควัณโรคอย่างถูกต้อง
เนื่องในโอกาสที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ วันที่ 24 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันวัณโรคโลก (World TB day) นอกจากจะเป็นการรำลึกถึงวันที่ นายแพทย์ Robert Kochผู้ค้นพบเชื้อ Mycobacterium tuberculosis ซึ่งเป็นสาเหตุของการป่วยเป็นวัณโรคและเป็นการก้าวสู่การควบคุมวัณโรคยุคใหม่ ยังเป็นการกระตุ้นเตือนให้ชาวโลกและผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ตระหนักถึงภัยอันตรายจากวัณโรค โดยเฉพาะวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (Multidrug resistance —MDR-TB)
สำหรับสถานการณ์วัณโรคในประเทศไทยพบว่า ปี 2553 มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ชนิดเสมหะพบเชื้อจำนวน 32,800 ราย ถ้ารวมผู้ป่วยวัณโรคทุกประเภทมีจำนวน 62,000 ราย ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งผู้ป่วยวัณโรคเสมหะพบเชื้อรายใหม่ และผู้ป่วยวัณโรคทุกประเภท สำหรับผลการรักษาผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ชนิดเสมหะพบเชื้อ พบว่า อัตราความสำเร็จของการรักษาในปี 2549-2551 เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 76, 83 และ 83 ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าประชาชนโดยเฉพาะผู้ป่วยเกิดความตระหนักและให้ความสำคัญในการรักษาวัณโรคมากขึ้น
สำหรับปัญหาวัณโรคดื้อยาหลายขนาน ประเทศไทยได้มีการเฝ้าระวังการดื้อยาวัณโรคระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง การเฝ้าระวังครั้งที่ 2 ในปี 2545 พบว่าผู้ป่วยวัณโรครายใหม่มีเชื้อ วัณโรคดื้อยาหลายขนานร้อยละ 0.9 ในขณะที่ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติการรักษาวัณโรคมาก่อน ดื้อยาหลายขนานถึงร้อยละ 20.4 เมื่อเทียบการเฝ้าระวังครั้งที่ 3 ในปี 2549 พบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่มีเชื้อวัณโรคดื้อยาหลายขนานร้อยละ 1.6 ในขณะที่ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติการรักษาวัณโรคมาก่อน ดื้อยาหลายขนานถึงร้อยละ 34.5 ซึ่งพบว่าแนวโน้มปัญหาของวัณโรคดื้อยาหลายขนานเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และหากประมาณการณ์จากจำนวนผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ของประเทศ อาจมีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานถึง 2,770 ราย โดยสามารถตรวจพบและคาดว่าเป็นผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานขึ้นทะเบียนรักษาโดยใช้ยาแนวที่สองซึ่งมีราคาที่สูงมาก (120000-180000 บาทต่อราย) แล้วถึง 558 ราย
นอกจากนี้ยังพบว่า จังหวัดที่มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคชนิดดื้อยาหลายขนานขึ้นทะเบียนรักษาและถือเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง (Hot Spot) สูงสุด 10 อันดับแรก คือ นนทบุรี กาญจนบุรี ระยอง อุบลราชธานี เชียงใหม่ นครราชสีมา จันทบุรี ชลบุรี และศรีสะเกษ สาเหตุของการดื้อยาส่วนใหญ่เกิดจาก ผู้ป่วยฐานะยากจน ขาดยา กินยาไม่สม่ำเสมอ แพ้ยา กินยาไม่ถูกต้อง ไม่มีผู้กำกับดูแลการกินยาของผู้ป่วยและที่สำคัญถึงแม้จะมีเทคโนโลยีที่ตรวจวินิจฉัยได้เร็ว ระบบยาที่มีประสิทธิภาพ แต่ถ้าการบริหารจัดการไม่ดีก็อาจเกิดการแพร่ระบาดของวัณโรคดื้อยาหลายขนานได้
การจัดกิจกรรม “รู้ทัน วัณโรค พบก่อน รักษาหาย ไม่แพร่กระจาย” มีจุดมุ่งหมายเพื่อเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการช่วยขจัดวัณโรค ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ป่วยเองที่ต้องให้ความร่วมมือในการรักษาเป็นอย่างดี แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นๆ ที่จะต้องให้การดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐานสากล องค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนมหาวิทยาลัย จะต้องมีส่วนในการควบคุมวัณโรคประเทศไทยให้ดี จนไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขต่อไป การรณรงค์ในปีนี้จึงเน้นการมีส่วนร่วมของบุคคล องค์กร ต่อการขจัดปัญหาวัณโรค โดยที่ทุกๆ ภาคส่วนมีปณิธานที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมนี้
ภายในงานยังมีนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับวัณโรค จากหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขและเครือข่ายองค์กรภาคี การเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องการ การดูแล เข้าใจ ผู้ป่วย วัณโรค จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งบริการตรวจเช็คสุขภาพและตรวจปอดฟรีด้วย รถเอ็กซเรย์ดิจิตอล เคลื่อนที่ ที่สามารถตรวจหาโรควัณโรคได้ทันที ด้วยระบบเอ็กซเรย์ดิจิตอล ที่ให้ภาพได้ภายใน 3-5 วินาที สามารถถ่ายภาพทรวงอกติดต่อกันได้เป็นจำนวนมาก โดยรถเอ็กซเรย์ดิจิตอล เคลื่อนที่ คันนี้จะช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการตรวจหาความชุกของคนป่วยได้รวดเร็ว เพื่อจะได้ทำการรักษาผู้ป่วยได้ทันก่อนที่จะเผยแพร่เชื้อวัณโรคต่อไป