กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--ธสน.
ประเมินผลกระทบรายสาขาจากพิบัติภัยในญี่ปุ่นและความไม่สงบในโลกอาหรับ
เหตุพิบัติภัยในญี่ปุ่นและความไม่สงบในโลกอาหรับ (ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ) ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระดับที่แตกต่างกัน โดยสำหรับกรณีของพิบัติภัยในญี่ปุ่น คาดว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะเป็นเพียงช่วงระยะสั้นและไม่มากนัก ซึ่งจากผลการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พบว่าเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกสินค้าและบริการของไทยราวร้อยละ 0.8 และกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยราวร้อยละ 0.1 สำหรับเหตุความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือยังคงลุกลามเป็นวงกว้างและไม่ทราบว่าจะยุติลงเมื่อใด และหากมีผลกระทบต่อประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่คาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น กระทบต่อต้นทุนการผลิตและเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวเบรกเศรษฐกิจโลกให้ขยายตัวช้ากว่าที่คาดกันไว้ ทั้งนี้ ธสน. ได้วิเคราะห์ผลกระทบจากทั้งสองเหตุการณ์ต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางต่างๆ ตามรายละเอียดดังนี้
สถานการณ์พิบัติภัยในญี่ปุ่น
เหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นประมาณการมูลค่าความเสียหายอาจสูงถึง 25 ล้านล้านเยน (309 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 9 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5 ของ GDP ญี่ปุ่น) นับเป็นมูลค่าความเสียหายจากภัยธรรมชาติสูงที่สุดในโลก ทั้งนี้ ความเสียหายที่มีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น แบ่งได้เป็น 3 ประเด็นสำคัญ คือ
- ความเสียหายต่อภาคการผลิต พื้นที่ประสบภัยในเขต 5 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง มีมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ 7.8 ของ GDP รวมทั้งประเทศ ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมสำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และอาหาร ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้น นอกจากกระทบต่ออุตสาหกรรมในพื้นที่โดยตรงแล้ว ยังกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ของอุตสาหกรรมยานยนต์และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่อื่นของญี่ปุ่น จนผู้ผลิตยานยนต์และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์รายสำคัญ อาทิ Toyota Honda Sanyo Sharp Mitsubishi Panasonic และ Sony ต้องหยุดดำเนินการผลิตเป็นการชั่วคราว
- ความเสียหายต่อระบบขนส่งและคมนาคม เหตุพิบัติภัยทำให้ระบบขนส่งและคมนาคมได้รับความเสียหาย จนทำให้การขนส่งสินค้าทั้งขานำเข้าและส่งออกต้องล่าช้าออกไป
- ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ กระทบต่อปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าของญี่ปุ่นถึงร้อยละ 15 ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง อาทิ เหล็ก ปิโตรเลียม และปิโตรเคมี ตลอดจนอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ ในญี่ปุ่นที่เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนกระแสไฟฟ้าไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ตามปกติ
นอกจากนี้ ปัญหาการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารของญี่ปุ่น เนื่องจากหลายประเทศกังวลต่อการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี และยังส่งผลทางด้านจิตวิทยาต่อผู้บริโภคในประเทศต่างๆ ที่จะหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่น
ผลกระทบต่อไทย
- ผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปญี่ปุ่น มีทั้งผลกระทบด้านลบและด้านบวก คือ
ยานยนต์และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์
อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นคิดเป็นกว่าร้อยละ 10 ของมูลค่าส่งออกสินค้าหมวดดังกล่าวของไทยไปตลาดโลก ดังนั้น การชะลอคำสั่งซื้อสินค้าของผู้นำเข้าญี่ปุ่น และปัญหาระบบขนส่งทำให้การส่งออกสินค้าล่าช้า ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมดังกล่าวของไทยในระดับหนึ่ง และอาจส่งผลต่อเนื่องให้ผู้ส่งออกไทยได้รับชำระเงินค่าสินค้าล่าช้ากว่ากำหนด
ยางพารา
ไทยส่งออกยางพาราไปญี่ปุ่นคิดเป็นร้อยละ 13.8 ของมูลค่าส่งออกยางพาราของไทยไปตลาดโลก พิบัติภัยที่เกิดขึ้นทำให้โรงงานผลิตยางรถยนต์ในญี่ปุ่น อาทิ Goodyear หยุดดำเนินการผลิตเป็นการชั่วคราว ส่งผลให้คำสั่งซื้อยางพาราจากญี่ปุ่นลดลง เห็นได้ชัดจากระดับราคายางพาราที่ปรับลดลงอย่างรุนแรงในช่วงต้นของเหตุพิบัติภัยดังกล่าวอาหาร วัสดุก่อสร้าง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการบูรณะสาธารณูปโภค ระบบไฟฟ้า สายส่ง และผลิตภัณฑ์ยาง
ญี่ปุ่นมีแนวโน้มนำเข้าวัสดุก่อสร้าง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการบูรณะสาธารณูปโภค ระบบไฟฟ้า และสายส่งกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า เพื่อใช้ฟื้นฟูประเทศ ขณะที่การส่งออกอาหารของไทยได้รับผลดีจากการที่หลายประเทศกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารจากญี่ปุ่น ส่วนผลิตภัณฑ์ยาง โดยเฉพาะยางรถยนต์ของไทยอาจได้รับผลดีจากญี่ปุ่นโยกการผลิตบางส่วนมาไทย
- ผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว
ในปี 2553 นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่เดินทางมาประเทศไทยราว 1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 6 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทย พิบัติภัยดังกล่าวทำให้นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งยกเลิกการเดินทางมาไทยในช่วงไตรมาส 2 ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยเกือบทั้งหมดยกเลิกการเดินทางไปญี่ปุ่นแล้ว อย่างไรก็ตาม คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายปี 2554 และการท่องเที่ยวไทยในภาพรวมอาจได้รับผลกระทบไม่มาก เพราะทดแทนด้วยนักท่องเที่ยวในตลาดอื่น ประกอบกับนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งเปลี่ยนเป้าหมายท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นมาไทย อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเป็นกลุ่มผู้บริโภคระดับบน จึงมักใช้จ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่เน้นกลุ่มลูกค้าจากญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
- ผลกระทบต่อธุรกิจที่พึ่งพาการนำเข้าจากญี่ปุ่น
ยานยนต์และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์
อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยพึ่งพาชิ้นส่วนนำเข้าจากญี่ปุ่นราวร้อยละ 15 ของมูลค่าผลผลิต ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยพึ่งพาชิ้นส่วนนำเข้าจากญี่ปุ่นราวร้อยละ 10 ของมูลค่าผลผลิต แต่ชิ้นส่วนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากญี่ปุ่นเป็นหลัก การที่โรงงานในญี่ปุ่นไม่สามารถดำเนินการผลิตได้จนทำให้เกิดการขาดแคลนชิ้นส่วนดังกล่าวมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อการผลิตยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ของไทย จนอาจมีผลให้สายการผลิต ตลอดจนการส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทยชะงักลงในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน 2554 และหากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจได้รับผลกระทบต่อเนื่องยาวนาน 4-6 เดือน
เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ
ไทยพึ่งพาการนำเข้าเครื่องจักรและส่วนประกอบจากญี่ปุ่นถึงร้อยละ 42 การหยุดผลิตของโรงงานในญี่ปุ่นอาจส่งผลกระทบต่อไทยในการนำเข้าเครื่องจักรและส่วนประกอบจากญี่ปุ่น อันจะส่งผลต่อเนื่องถึงแผนลงทุนและการก่อสร้างโครงการต่างๆ ในประเทศไทยในระยะถัดไป
ผลกระทบจากเหตุความไม่สงบในโลกอาหรับ
ปัญหาความไม่สงบในโลกอาหรับที่มีแนวโน้มลุกลามบานปลายอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งในด้านอุปสงค์ของตลาดโลกต่อสินค้าไทยที่อาจจะชะลอตัว ผนวกกับต้นทุนราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ทั้งนี้ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้
- ภาคการส่งออก การส่งออกของไทยอาจได้รับผลกระทบในแง่คู่ค้าในโลกอาหรับอาจผิดนัดชำระหนี้ ชะลอการซื้อสินค้า รวมถึงความล่าช้าในการขนส่งและต้นทุนในการกระจายสินค้าที่สูงขึ้น ทั้งนี้ สินค้าไทยที่พึ่งพาตลาดอาหรับค่อนข้างสูง ซึ่งจะได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ ข้าว รถยนต์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ ผ้าผืน
- ภาคการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบจากการที่นักท่องเที่ยวในประเทศที่เกิดความไม่สงบเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยน้อยลง ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวมีรายได้ลดลงและเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง ปัจจุบันสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางและแอฟริการวมกันคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 5 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในไทย ทั้งนี้ ต้องจับตากลุ่มธุรกิจโรงแรมและธุรกิจนำเที่ยวที่เน้นลูกค้าในภูมิภาคดังกล่าวเป็นหลัก ซึ่งอาจได้รับผลกระทบมาก
- ภาคแรงงานและธุรกิจจัดหางาน แรงงานที่ต้องเดินทางกลับประเทศไทยอาจขาดรายได้ในระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม แรงงานส่วนหนึ่งอาจเข้าไปทำงานในภาคการผลิตในไทยที่เริ่มประสบปัญหาแรงงานตึงตัวหรือภาคเกษตรกรรม ขณะที่ธุรกิจจัดหาแรงงานอาจประสบปัญหาในเรื่องรายได้ที่ลดลง
- ธุรกิจอื่นๆ อาทิ โรงพยาบาลในไทยที่มีกลุ่มลูกค้าจากประเทศดังกล่าว สำหรับธุรกิจไทยในประเทศเหล่านี้ที่อาจได้รับผลกระทบ เช่น ร้านอาหารไทยและธุรกิจจัดส่งวัตถุดิบอาหารในภูมิภาคนี้ รวมถึงธุรกิจก่อสร้าง ซึ่งระยะหลังผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปประมูลโครงการได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะกระทบทั้งโครงการที่มีอยู่เดิมและโครงการใหม่ที่อาจชะงักงัน
- ผลกระทบจากราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น อุตสาหกรรมที่มีต้นทุนพลังงานในสัดส่วนสูงจะได้รับผลกระทบมาก จากการที่ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นและอาจเสียเปรียบในการแข่งขันหากประเทศคู่แข่งมีการอุดหนุนราคาน้ำมัน ทั้งนี้ ธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ได้แก่ ธุรกิจประมงและการขนส่ง ที่ใช้พลังงานมากถึงร้อยละ 30-50 ของต้นทุนรวม ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์เซรามิก เม็ดพลาสติก เส้นใย ด้าย ผ้าผืน เหล็กและผลิตภัณฑ์ ที่มีต้นทุนพลังงานเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของต้นทุนทั้งหมด