เนื้อสุกรแปรรูปส่งออกไทยสดใส ครึ่งปีแรกเพิ่มแล้วกว่า 50 % ด้วยมูลค่ากว่า 1,150 ลบ.

ข่าวทั่วไป Wednesday August 3, 2005 11:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--สมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก
เนื้อสุกรแปรรูปส่งออกไทยสดใส ครึ่งปีแรกเพิ่มแล้วกว่า 50 % ด้วยมูลค่ากว่า 1,150 ลบ. มั่นใจแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เหตุจากโรคระบาดในจีน อีกทั้งญี่ปุ่นให้โควต้าเพิ่ม ช่วยเหลือปัญหาภัยแล้ง-สึนามิ
น.สพ.บุญเพ็ง สันติวัฒนธรรม นายกสมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก เปิดเผยว่า นับแต่โรงงานแปรรูปสุกรปรุงสุกของไทยได้รับการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นให้ส่งออกได้เมื่อช่วงต้นปี 2548 ที่ผ่านมา ส่งผลให้การส่งออกเนื้อสุกรของไทยในช่วงครึ่งแรกปีนี้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2547 อย่างมาก โดยมีปริมาณถึง 6,880 ตัน ด้วยมูลค่าประมาณ 1,150 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ส่งออกได้ 4,530 ตัน มูลค่าประมาณ 644 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.80 และร้อยละ 78.57 ซึ่งตลาดหลักของเนื้อสุกรแช่เย็นยังคงเป็นตลาดฮ่องกง ส่วนเนื้อสุกรแปรรูปตลาดหลักคือญี่ปุ่น
สำหรับแนวโน้มการส่งออกในครึ่งปีหลัง น.สพ.บุญเพ็ง กล่าวว่า น่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เพราะมีปัจจัยบวก จากกรณีที่เกิดโรคสเตรปโตคอคคัสซูอิส ระบาดในสุกรในมณฑลเสฉวน ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โรคดังกล่าวเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีผู้ติดเชื้อในมณฑลนี้แล้ว 31 ราย และยังพบผู้ติดเชื้อนี้จากสุกรในฮ่องกงด้วย ส่งผลให้ฮ่องกงประกาศระงับนำเข้าเนื้อสุกร และเนื้อชนิดอื่นๆ จากมณฑลเสฉวนของจีนเป็นการชั่วคราว ขณะเดียวกัน ซุปเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ของฮ่องกงยังงดจำหน่ายเนื้อสุกรที่นำเข้าจากมณฑลดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ปี 2547 ฮ่องกงนำเข้าเนื้อสุกรจากจีน 200,000 ตัน โดยนำเข้าจากมณฑลเสฉวนคิดเป็น 15% ของการนำเข้ารวม
นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่าญี่ปุ่นจะให้โควตาส่งออกเนื้อสุกรต้มสุก และผลิตภัณฑ์ปลอดภาษีแก่ไทย ในปริมาณ 1,200 ตัน เพื่อช่วยเหลือประเทศไทยที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และภัยจากสึนามิ
นายกสมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก กล่าวว่า จากเหตุข้างต้น นับว่าเป็นผลดีต่อไทย และคาดว่าไทยจะสามารถขยายการส่งออกไปตลาดฮ่องกงและญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในครึ่งปีหลังนี้ จึงคาดว่าในปี 2548 นี้ ไทยจะสามารถส่งออกได้ไม่น้อยกว่า 15,000 ตัน มูลค่า 2,500 ล้านบาท เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ในช่วงต้นปีที่ 12,500 ตัน และคาดว่าจะส่งออกได้ถึง 20,000 ตัน ในปี 2549
น.สพ.บุญเพ็ง ยังกล่าวถึงการทำ FTA กับญี่ปุ่น ว่า น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกเนื้อสุกรต้มสุกของไทย ทั้งนี้ สมาคมฯ มีเป้าหมายที่จะผลักดันการส่งออกไปยังตลาดใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหากรัฐบาลสามารถจัดตั้งเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยได้สำเร็จ และให้แล้วเสร็จในอนาคตอันใกล้ ก็จะช่วยลดข้อกีดกันจากต่างประเทศได้ โดยจะทำให้เนื้อสุกรสดของไทยสามารถส่งเข้าไปได้หลายประเทศมากขึ้น อาทิ สิงคโปร์ และญี่ปุ่น
ขณะที่องค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ได้ยอมรับมาตรการ Compartment ให้ใช้เป็นมาตรการควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อยได้ ซึ่งรัฐบาลไทยน่าจะนำมาใช้พิจารณาเจรจากับญี่ปุ่นสำหรับการส่งออกเนื้อสุกรสดในรูปแบบ Compartment ดังกล่าว.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก
Swine Producers and Processors for Exporting association
โทรศัพท์ 0-2638-2525 โทรสาร 0-2638-2536--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ