ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิชุดใหม่ ธ. ธนชาต” ระดับ “A”

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 28, 2011 12:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาทของธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” ในขณะเดียวกันยังประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารที่ระดับ “A+” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันและหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ชุดปัจจุบันของธนาคารที่ระดับ “A” และ “A-” ตามลำดับ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นจากผลของการที่ธนาคารซื้อกิจการธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธนาคารขนาดกลางที่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่และกระจายตัวมากกว่า รวมถึงคณะผู้บริหารที่มีความสามารถและประสบการณ์ในธุรกิจหลักคือสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ตลอดจนการมีเครือข่ายธุรกิจที่กว้างขวางขึ้น และการมีกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เหมาะสมต่อการสร้างความแข็งแกร่งในการผสานธุรกิจในกลุ่มธนชาต นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังได้รับแรงหนุนจากสถานะเครดิตที่แข็งแกร่งของผู้ถือหุ้นเชิงกลยุทธ์คือ Bank of Nova Scotia (BNS) จากประเทศแคนาดา ซึ่งถือหุ้นธนาคารในสัดส่วน 49% อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวมีข้อจำกัดจากสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPA) ที่สูงขึ้นของธนาคาร ความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารธนชาตและธนาคารนครหลวงไทย และภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนของการเมืองภายในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลกอาจเป็นปัจจัยที่จำกัดแผนการขยายธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มธนชาตในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า อันดับเครดิต “A-” สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารธนชาต (TBANK197A และ TBANK247A) สะท้อนถึงความด้อยสิทธิและความเสี่ยงต่อการเลื่อนชำระดอกเบี้ย หุ้นกู้ดังกล่าวจะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2562 และ 2567 โดยสะสมผลตอบแทน มีลักษณะด้อยสิทธิ และไม่มีหลักประกัน ธนาคารสามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ดังกล่าวคืนทั้งจำนวนก่อนครบกำหนดได้ภายหลังจาก 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสาร และได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิประเภทนี้จะได้รับการชำระเงินในลำดับถัดจากผู้ฝากเงิน ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีประกัน และผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคาร นอกจากนี้ ธนาคารไม่ต้องมีภาระผูกพันในการจ่ายหนี้ใดใดสำหรับหุ้นกู้ประเภทนี้ ในกรณีที่ธนาคารมีผลประกอบการขาดทุนในระยะเวลา 6 เดือนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ธนาคารต้องจ่ายชำระดอกเบี้ย และธนาคารไม่สามารถจ่ายเงินปันผลในช่วงดังกล่าวหรือในช่วง 6 เดือนข้างหน้าได้ อย่างไรก็ตาม จำนวนดอกเบี้ยที่จ่ายคืนจะเป็นจำนวนยอดสะสม แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนบทบาทของธนาคารธนชาตในการเป็นผู้ดำเนินธุรกิจด้านการเงินและการธนาคารพาณิชย์ที่สำคัญของกลุ่มธนชาต โดยคาดหมายว่าฐานะทางการตลาดในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของธนาคารภายใต้การควบรวมกิจการระหว่างธนาคารธนชาตและธนาคารนครหลวงไทยจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้นและสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์มิให้เสื่อมถอยลงได้ รวมถึงสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการ นอกจากนี้ ยังคาดหมายว่าความสามารถในการเพิ่มรายได้ทั้งรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย รวมถึงการประหยัดต้นทุนที่เกิดจากการผสานประโยชน์ภายในกลุ่มธนชาตจะช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธนาคารที่อาจสูงขึ้นในช่วงระหว่างการควบรวมกิจการของธนาคารทั้ง 2 แห่ง ทริสเรทติ้งรายงานว่า ธนาคารธนชาตซื้อกิจการธนาคารนครหลวงไทยตามแผนกลยุทธ์การเติบโตโดยวิธีการซื้อหุ้นจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินและจากผู้ถือหุ้นส่วนน้อยรายอื่น ๆ ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ปัจจุบันธนาคารธนชาตถือหุ้นธนาคารนครหลวงไทยรวมทั้งสิ้น 99.95% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ณ สิ้นปี 2553 ธนาคารเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดของสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของประเทศ (จากเดิมอันดับที่ 8 เมื่อปี 2551) ด้วยส่วนแบ่งตลาดสำหรับสินเชื่อรวมที่ 9.1% และสำหรับเงินฝากที่ 8.1% ตามงบการเงินรวม ธนาคารธนชาตมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 872.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 101.6% จาก 433 พันล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2552 การซื้อกิจการ ธนาคารนครหลวงไทยทำให้ธนาคารธนชาตมีสถานะทางการแข่งขันในสินเชื่อภาคธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการกระจายสินเชื่อไปสู่ภาคธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งทำให้สัดส่วนของสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ของธนาคารดียิ่งขึ้นและลดการกระจุกตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ณ สิ้นปี 2553 ธนาคารธนชาตมีเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น 607,775 ล้านบาท เติบโตขึ้น 113.2% จากสิ้นปี 2552 ที่มีสินเชื่อจำนวน 285,100 ล้านบาท ธนาคารเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 27% ด้วยมูลค่าสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 239,943 ล้านบาท (รวมของ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วย) ธนาคารมีสินเชื่อธุรกิจคิดเป็น 39% ของสินเชื่อรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 21% ในปี 2552 ในขณะที่สินเชื่อรายย่อยอยู่ที่ 61% ของสินเชื่อรวม ลดลงจาก 79% เมื่อสิ้นปี 2552 สินเชื่อส่วนใหญ่ของธนาคารประกอบด้วยสินเชื่อรายย่อย โดยเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 39% และสินเชื่อที่อยู่อาศัย 13% นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อธุรกิจซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญ โดยประกอบไปด้วยสินเชื่อกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตและการพาณิชย์ 14% และสินเชื่อกลุ่มสาธารณูปโภคและบริการ 11% ในส่วนของหนี้สิน ธนาคารธนชาตได้ประโยชน์จากการเพิ่มฐานลูกค้าเงินฝากขนาดใหญ่และเครือข่ายสาขาจำนวนมากของธนาคารนครหลวงไทยซึ่งช่วยสนับสนุนให้ธนาคารสามารถขยายขอบเขตการให้บริการทางการเงินของกลุ่มธนชาตทั้งหมดผ่านช่องทางและเครือข่ายต่าง ๆ ในกลุ่มธนชาต นอกจากนี้ ยังคาดว่าการซื้อกิจการของธนาคารนครหลวงไทยจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่มูลค่าเครือข่ายทางธุรกิจของธนาคารธนชาตได้ในระยะปานกลางถึงระยะยาว อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จดังกล่าวยังต้องรอการพิสูจน์ต่อไป ฐานะการเงินของธนาคารธนชาตดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีกำไรสุทธิในปี 2553 จำนวน 8,777 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 116.4% จาก 4,056 ล้านบาทในปี 2552 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของทั้งรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย นอกจากนี้ ธนาคารยังมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยและอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยสำหรับปี 2553 เพิ่มขึ้นด้วย โดยอยู่ที่ระดับ 1.34% และ 17.51% ตามลำดับ จาก 1% และ 16.48% ในปี 2552 ในส่วนของคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารธนชาตภายหลังการซื้อกิจการของธนาคารนครหลวงไทยนั้น ธนาคารมีข้อจำกัดจากการมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และ NPA เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อธุรกิจของธนาคารนครหลวงไทย โดยสิ้นปี 2553 ธนาคารมีอัตราส่วน NPL ต่อเงินให้สินเชื่อรวม 6.06% เพิ่มขึ้นจาก 3.04% ในปี 2552 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทย 11 แห่งที่มีอัตราส่วนอยู่ที่ 4.72% นอกจากนี้ ยังมี NPA (ประกอบด้วยเงินให้สินเชื่อจัดชั้นค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน ยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และทรัพย์สินรอการขาย) ณ สิ้นปี 2553 คิดเป็น 0.61 เท่าของเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคาร โดยเพิ่มขึ้นจาก 0.31 เท่าเมื่อสิ้นปี 2552 แต่ยังคงใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทย 11 แห่งที่ระดับ 0.61 เท่า ดังนั้น ความสามารถของผู้บริหารในการดูแลสินทรัพย์ไม่ให้มีคุณภาพเสื่อมถอยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการควบรวมกิจการจึงเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไป ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ธนาคารธนชาตมีสภาพคล่องที่ดีขึ้นภายหลังการซื้อกิจการ โดยมีฐานเงินรับฝากที่ขยายตัวไปยังฐานลูกค้ารายย่อยเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ เงินทุนของธนาคารยังแข็งแกร่งขึ้นจากผลของการเพิ่มทุนโดยผู้ถือหุ้นหลัก ได้แก่ บริษัททุนธนชาตและ BNS ในเดือนเมษายน 2553 จำนวน 35,790 ล้านบาท อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 8.3% จาก 6.44% ในปี 2552 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทย 11 แห่งซึ่งอยู่ที่ 9.78% ธนาคารธนชาตมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ณ สิ้นปี 2553 เท่ากับ 14.75% เพิ่มขึ้นจาก 14.1% ในปี 2552 อัตราส่วนดังกล่าวคาดว่าจะลดลงเล็กน้อยอันเป็นผลจากการนำค่าความนิยมจากการซื้อกิจการธนาคารนครหลวงไทยมาหักออกจากเงินกองทุนชั้นที่ 1 เมื่อกิจการธนาคารนครหลวงไทยถูกรวมเข้ากับธนาคารธนชาตแล้วเสร็จในช่วงประมาณปลายปี 2554 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารธนชาตยังคงสูงกว่าอัตราขั้นต่ำที่ 8.5 % ซึ่งกำหนดโดย ธปท. ปัจจุบันธนาคารธนชาตกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนการควบรวมกิจการ โดยได้มีการถอนหุ้นธนาคารนครหลวงไทยออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยสมัครใจเรียบร้อยแล้วในปี 2553 ธนาคารนครหลวงไทยจะยังคงดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ต่อไปจนกระทั่งกระบวนการควบรวมกิจการแล้วเสร็จ และจะต้องคืนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์แก่ ธปท. ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2554 ทั้งนี้ อันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารธนชาตจะได้รับผลกระทบจากความท้าทายในเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเงินกองทุนและผลประกอบการของธนาคาร ทริสเรทติ้งกล่าว ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A+ อันดับเครดิตตราสารหนี้: TBANK155A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 คงเดิมที่ A TBANK194A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 คงเดิมที่ A TBANK197A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 คงเดิมที่ A- 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 TBANK204A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 คงเดิมที่ A TBANK247A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 คงเดิมที่ A- 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A แนวโน้มอันดับเครดิต: Positive (บวก)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ